เกษตร ลุยฉีดวัคซีน ป้อง "ลัมปี สกิน "หวั่น ลาม วัวนม

เกษตร ลุยฉีดวัคซีน ป้อง "ลัมปี สกิน "หวั่น ลาม วัวนม

นอกจากโควิด 19 จะระบาดหนักจากคนสู่คน แล้ว ในขณะ ยังมีไวรัสลัมปี สกิน ที่ระบาดหนักในโค กระบือ อีกด้วย แม้โรคนี้ไม่ติดสู่คน แต่ก็แพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงสั่งควบคุมต้นตอของการระบาด กำชับมาตรการควบคุมโรคและฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกินเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา  และถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย  ทันทีที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรค แพร่กระจายของโรคมาสู่ภูมิภาคเอเชียได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน ภูฏาน เนปาล เวียดนาม และเมียนมา กรมปศุสัตว์ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางรับมือ

   แต่เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นเร็วมาก จากแมลงที่เป็นพาหะ  แม้จะมีการกักโคกระบือไว้ก่อนที่ด่าน 28 วัน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเข้ามาของโรคดังกล่าวได้ โดยเมื่อปลายเดือนมี.ค. 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกินในโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยที่ อ. พนมไพร จ. ร้อยเอ็ด โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2 ตัว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน จากการสอบสวนโรคเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่  ซึ่งเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

162278932676

162278934214

ปัจจุบัน พบว่าการระบาดของโรคลัมปีสกิน ลุกลามไปแล้วใน 35 จังหวัด ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้  มีโค กระบือป่วยกว่า 7,000 ตัว จาก 6 ล้านตัวทั่วประเทศ

ทั้งนี้โรคลัมปี สกิน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65%

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า ได้ประกาศให้ชะลอการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตและซากโคซากกระบือจากเมียนมาแล้ว ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสังเกตอาการของโคกระบือ แนะนำวิธีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคให้เกษตรกร สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ตลาดนัดค้าสัตว์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกร

 พร้อมทั้งได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ คือ1 ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนพม่า พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น

162278950937

  1. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว 3. ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ อบจ. อบต. ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน

4.รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี และ 5. การใช้วัคซีนควบคุมโรค 

162278955248

อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน LSDV จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส เนื่องจากประเทศไทยไม่มีวัคซีนดังกล่าว เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย  ปัจจุบัน กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกประมาณ 300,000 โดส จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศ เพื่อเสริมระบบในการควบคุม ป้องกันโรค ลัมปีสกิน ในประเทศไทยโดยเร็วต่อไป

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ  กล่าวว่า แผนปฏิบัติการฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกิน แบ่งเป็น 2 โซน คือ 1.พื้นที่เกิดโรค Infected Zone 50 กิโลเมตร โดยฉีดวัคซีนในอำเภอที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากพื้นที่เกิดโรค และมีมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือที่ฉีดวัคซีนออกจากคอกเลี้ยงเป็นระยะเวลา 30 วัน และ 2.พื้นที่เฝ้าระวังโรค Surveillance Zone 100 กิโลเมตร ไม่ฉีดวัคซีน สามารถเคลื่อนย้ายภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น การดำเนินการฉีดวัคซีนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งต้องมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ที่ฉีดวัคซีนทุกตัว

162278967883

                ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์โรคลัมปีสกิน (ข้อมูล ณ วันที่4 มิ.ย.2564) พบรายงานการเกิดโรคลัมปี สกินใน 35 จังหวัด เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 2,172 ราย โคกระบือป่วยสะสม 7,200 ตัว และตายสะสม 53 ตัว คิดเป็นอัตราป่วยเฉลี่ย 27% อัตราตายเฉลี่ย 0.19%

                นางสวามนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ   กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ที่ยังวิกฤติหนักในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือทั่วประเทศ จึงกังวลว่าจะรุกลามมายังผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย( อ.ส.ค.) มีสมาชิกรวม 5,952 ราย มีจำนวนโครวม 174,658 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้อ.ส.ค.ประมาณ 874 ตันต่อวัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 15 สหกรณ์  มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 2,380 ราย และจำนวนโคนม 65,863ตัว

จึงได้สั่งการให้ อ.ส.ค.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

162278976516

          “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 11,393 ครอบครัว จำนวนโคทั้งหมด 427,311 ตัว หากไม่เร่งยับยั้งการระบาดในพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศในอนาคตได้ “ 

  162278979853

         ด้านนายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ทุกภูมิภาคจำนวน 52 แห่ง ปริมาณน้ำนมดิบ แยกเป็นพื้นที่ภาคกลางจำนวน 15 สหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 สหกรณ์ ภาคใต้ 8 สหกรณ์ ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) 3 สหกรณ์และภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย) จำนวน 16 สหกรณ์

 

ซึ่งทั้งหมดจะส่งน้ำนมดิบสำหรับป้อนกำลังผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเพื่อจำน่ายในรูปแบบนมพาณิชย์และนมโรงเรียนประมาณวันละ 600-800 ตันต่อวัน ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ที่ส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ ทำให้ อ.ส.ค. กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่การเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค.อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมนมของประเทศ  รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโคนมของ อ.ส.ค. ในอนาคตด้วย