ค้าปลีกจี้รัฐเร่ง'เสริมสภาพคล่อง'ต่อลมหายใจด่วน!

ค้าปลีกจี้รัฐเร่ง'เสริมสภาพคล่อง'ต่อลมหายใจด่วน!

พิษโควิดรอบ 3 ฉุดความเชื่อมั่นค้าปลีกวูบต่อเนื่อง! ยอดขายหดหาย ต้องลดการจ้างงานมากกว่า 25% ผู้ประกอบกว่า 50% สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน วอนรัฐเยียวยา เร่งรัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โหมแคมเปญปลุกเศรษฐกิจ หนุนธุรกิจเดินหน้า

ความหวังใหญ่ของภาคธุรกิจและประชาชนชาวไทยในเวลานี้ล้วนจับตาแผนฉีดวัคซีนหากรัฐบาลหากเป็นไปตามไทม์ไลน์และบรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้จริง! จะนำสู่การเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยที่ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอก 3 ที่รุนแรงมากกว่าครั้งก่อนหน้า ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือน พ.ค. โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-25 พ.ค. พบว่า ปรับลดลงมาก! จากเดือน เม.ย. และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 มาก! บ่งบอกภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น สะท้อนความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศจะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ดูเหมือนจะไม่ชัดเจนนัก

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้ยอดซื้อต่อบิล และความถี่ในการจับจ่าย “ลดลง” อย่างต่อเนื่องเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางของร้านค้าปลีก

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่ากำลังซื้อผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนก่อนค่อนข้างมาก รวมถึงความกังวลต่อความไม่แน่นอนการวางแผนการฉีดวัคซีน โดย29% ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการลดลงมากกว่า 25% เทียบเดือน เม.ย.

การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่นี้มีผลกระทบทำให้ยอดขายลดลงและมีแนวโน้มการปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งค่าธรรมเนียมการขายที่ลดลง โดยผู้ประกอบการ 41% บอกว่าต้องการลดการจ้างงานมากกว่า 25% ส่วนอีก 38% พยายามคงสภาวะการจางงานเดิมแต่คงได้ไม่นาน39% ย้ำว่ามีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ 8% มีสภาพคล่องเหลือเพียง 1-3 เดือน

แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายที่มีผลต่อภาคค้าปลีกอย่างยิ่งใช้ ยิ่งได้"ผู้ประกอบการ 56% คาดหมายว่าอาจช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ 38% คาดว่ายอดขาย “คงเดิม”เพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ดได้ใช้เพิ่มเติมจากจี-วอลเล็ต

อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีความเชื่อมั่นรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีแนวโน้มดีขึ่้นเล็กน้อย แต่หากเทียบดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเดือน ม.ค. ปรากฏว่าดัชนี เดือน พ.ค. ลดต่ำกว่า ม.ค. สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดระลอกนี้และความวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจนของแนวทางการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐนำเสนอ

162277611839

พิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือน พ.ค. หรือ same store sale growth (SSSG) เทียบ เม.ย. ลดลงต่อเนื่องและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 50 บ่งบอกว่า ผู้บริโภคมีความความระมัดระวังในการจับจ่าย สะท้อนจากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมเดือน พ.ค.ลดลงจากเดือน เม.ย. และเมื่อเทียบเดือน มี.ค. ยอดขายสาขาเดิมเดือนพ.ค. ลดลงมากกว่า 30-50% ทั้งยอดซื้อต่อบิล และความถี่ในการจับจ่าย เพราะผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี และซ้ำเติมจากผลการประกาศภาครัฐในมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกำหนดให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์ท ร้านอาหาร ปิดเวลา 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อให้บริการได้เวลา 04.00-23.00 น. กระทบต่อยอดขายอย่างมีนัยชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาคปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาค สะท้อนแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะภูมิภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือและภาคใต้ ลดลงชัดเจน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจําแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือน พ.ค.และ เม.ย. ลดลงชัดเจน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น สะท้อนถึง "ความหวัง" ต่อแผนการฉีดวัคซีนที่เริ่มเป็นรูปธรรมและมีความมั่นใจต่อแผนการกระจายวัคซีนที่ชัดเจน!

แต่ยกเว้นร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ทและร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ระดับต่ำค่าเฉลี่ยกลาง 50 สำหรับ “ไฮเปอร์มาร์ท” ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ผู้บริโภคมีความกังวล และซื้อแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าต่อครั้งมากขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายลดลง

สําหรับร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบํารุง น่าจะเป็นร้านค้าประเภทเดียวที่ดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 มาต่อเนื่อง เป็นผลจากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทั้งได้รับแรงหนุนจากวิถีนิวนอร์มอล ทำงานที่บ้าน ทำให้นิยมปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัยมากขึ้น

รัฐต้องช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี ลดภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะดำเนินธุรกิจได้อีกเพียง 6 เดือน รัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ตรงเป้าและพฤติกรรมในการจับจ่ายของผู้บริโภค”

ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการจับจ่ายต่อเนื่องครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ รวมถึงเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคได้ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินสนับสนุนจากรัฐให้หลากหลายมากกว่าเดิมมีมาตรการเยียยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% หรือผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคม 3 เดือน แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาด และพิจารณาให้ผู้มีสิทธิ ยิ่งใช้ ยิ่งได้” สามารถใช้เครดิตการ์ดจับจ่ายเพิ่มเติมจากจี-วอลเล็ต เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมที่จะจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ดมากกว่าเงินสด! จะทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างคึกคัก