ธุรกิจลั่น'วัคซีน’ธงนำเคลื่อนเศรษฐกิจ

ธุรกิจลั่น'วัคซีน’ธงนำเคลื่อนเศรษฐกิจ

แม้รัฐโหมมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภายใต้ภาวะตลาดที่ซบเซามาอย่างหนักในห้วง "วิกฤติโควิด" แต่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเชื่อว่าสำคัญที่สุดเวลานี้ คือ การระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด จะนำสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า นอกจากการเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นภาคท่องเที่ยวเพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งต้องชะลอไปก่อนเพื่อรอสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 คลี่คลาย

รวมถึงแคมเปญใหญ่ “1 ล้านห้อง จ่ายเพียงคืนละ 1 ดอลลาร์” กระตุ้นท่องเที่ยวภูเก็ตช่วงเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบโดสแล้วผ่านโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยอยากขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าห้องพักแก่โรงแรมคืนละ 1,500 บาทต่อห้อง สำหรับการเข้าพัก 2 คืน รวมใช้วงเงินสนับสนุน 3,000 ล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวให้จ่ายจริงที่คืนละ 1 ดอลลาร์มั่นใจว่าหากรัฐเห็นชอบแคมเปญนี้ตามที่ สทท.เสนอ จะสามารถดึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเฉลี่ยที่ 5 หมื่นบาทต่อทริป สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 แสนล้านบาท

สิ่งสำคัญเวลานี้ต้องการให้รัฐเร่งกระจายการฉีดวัคซีนแก่คนไทยทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มความกล้าและความมั่นใจแก่คนไทยในการออกไปเที่ยว ระหว่างรอตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว และอยากให้รัฐพิจารณากองทุนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อต่อลมหายใจแก่ผู้ประกอบการซึ่งขณะนี้หลายรายเหนื่อยเต็มทีแล้ว”

วิชิต ประกอบโกศล รองประธาน สทท. กล่าวเสริมว่า ในมุมผู้ประกอบการท่องเที่ยว โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ดี เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้จริง และส่งผลดีต่อภาคท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ภายในประเทศคลี่คลาย โดยรัฐบาลต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้รุนแรงมากไปกว่านี้

สำหรับแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ มองว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยเป็นคำตอบเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยภาครัฐต้องรณรงค์ให้คนไทยออกมาฉีดวัคซีนกันมากที่สุด หากภาครัฐเร่งฉีดให้คนไทย 50% ของประชากรทั่วประเทศภายในไตรมาส 3 ได้ยิ่งดี และเพิ่มเป็น 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 4 ตามแผน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักให้กับภาคท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ด้วย เหมือนกับในหลายๆ ประเทศที่ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากแล้ว คนต่างเกิดความเชื่อมั่น ออกมาใช้ชีวิต เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำมาค้าขายได้ตามปกติ

ต้องการให้เร่งฉีดแก่ประชากรในพื้นที่ท่องเที่ยว 10 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯ เพื่อเปิดเมืองครบทั้ง 10 พื้นที่ภายในไตรมาส 4 นี้ตามโรดแมพของรัฐบาล ซึ่งช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว”

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การดำเนินการเรื่อง "วัคซีน" ของภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนในแนวทางดำเนินงานต่างๆ ทั้งการฉีดและกระจายวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน  และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจ และขยับตัวได้มากขึ้น!  จากนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะตามมา เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 

สอดรับไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งมาตรการเยียวยาช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อนำสู่การฟื้นฟูกิจการได้เร็ว 

"ถ้าเมื่อไรมีความชัดเจนเรื่องวัคซีน จะมีความเชื่อมั่นสูงมาก และมู้ดการจับจ่ายตามมา เมื่อคนหมดหวังทุกอย่างก็ชะงัก จะเดือดร้อนกันไปหมด" 

 

วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการเยียวยาวงเงิน 1.62 แสนล้าน ผ่านโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 นั้น ช่วยได้ในแง่กระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนแต่จะทั่วถึงทุกคนหรือไม่ อย่างไร ยังเป็นคำถาม

คนที่ได้คงดีใจ แต่มาตรการแจกเงินไม่ใช่เรื่องดี เพราะเป็นการสร้างความเคยชินที่ไม่ดี พอถึงช่วงหนึ่งไม่มีเงินแจกคนจะไม่ชอบแล้วลึกๆ แล้วเชื่อว่าไม่มีใครอยากรับเงินจากรัฐบาล แต่อยากจะทำมาหากินได้คล่องๆ มากกว่า รัฐไม่ต้องมานั่งแจกเงิน 2,000 หรือ 3,000 บาท ไม่มีความหมาย แต่จะทำอย่างไรที่จะให้เขากลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติ ซึ่งหลักการคือเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติได้เร็ว มีการค้าขายสร้างเม็ดเงินสะพัดได้มากกว่า”

หากพิจารณาสถานการณ์ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ยุโรป สหรัฐ ที่ติดเชื้อวันละ 3 แสนคนสมัยรัฐบาล “ทรัมป์” แต่ทุกวันนี้ติดเชื้อหลักหมื่นคน ขณะที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น หรือประเทศในยุโรปที่เคยแย่อย่าง อิตาลี อังกฤษ สเปน ทุกวันนี้ติดเชื้อน้อยลง และสามารถกลับมาทำมาหากินได้เต็มที่ เพราะฉีดวัคซีนเยอะ ฉีดวัคซีนเร็ว ไม่มีปัญหาวัคซีนการเมืองเหมือนในประเทศไทย

หากเราระดมฉีดได้มากๆ และเร็ว จะฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ผู้คนทำมาหากิน และทำงานได้ตามปกติ รัฐบาลไม่ต้องแจกเงินแม้แต่บาทเดียวก็ยังได้ สู้เอาเงินมาซื้อวัคซีนแล้วระดมฉีดจะส่งผลดีมากกว่า”

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือเอ็มไอ กล่าวว่าวงเงินเยียวยา 1.62 แสนล้านบาท ผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งช้อปยิ่งได้ เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือว่ามีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่คงไม่มากนัก เพราะมาตรการดังกล่าวยังไม่ช่วยฟื้นให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยภาพรวมเกิดความคึกคักอย่างมีนัยสำคัญ

มาตรการที่ออกมาถือเป็นการเยียวยาผู้ที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิดค่อนข้างมาก รัฐมุ่งลดผลกระทบจากปัญหาปากท้องและปัญหาสังคม ขณะที่มาตรการและแผนงานที่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงคือการเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยเร็วและครอบคลุมมากที่สุดอย่างน้อย 70% ของประชากรเพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขับเคลื่อนได้ และเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงสถานการณ์ปกติ เช่น ภาคท่องเที่ยวภายในประเทศ และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ งานสัมมนา ประชุม นิทรรศการ หรือไมซ์ การส่งออก และนำเข้า รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนการเยียวยาภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ดำเนินกิจการได้และอยู่รอด ส่งผลต่อการจ้างงาน อัตราว่างงานที่ต่ำลง ประชาชนมีรายได้ จะทำให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายกลับมา

มาตรการที่ออกมาเป็นการที่ช่วยเยียวยาผู้ที่ประสบความลำบากจากโควิด-19 มากกว่าเป็นมาตรการในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้กลับมาคึกคัก”

อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน(อีเอ็มเอ) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาถือเป็นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องการให้รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ฟื้นกลับมาด้วย เพราะหากธุรกิจรายย่อยเดินหน้าต่อได้ การใช้เงินเยียวยาผลกระทบจดลดลง

“นอกจากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด รัฐควรหามาตรกรทำให้ธุรกิจฟื้นตัว เหมือนคนไข้ออกจากไอซียู หลังจากต้องรักษาตัวมา 1 ปีครึ่ง เงินเยียวยากระตุ้นการบริโภค แต่ควรมองมิติอื่นด้วย เช่น ฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว คนที่เสียภาษี ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกมาก”

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นการผันเงินสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง เพื่อให้มีการใช้จ่ายและหมุนเวียนในระบบ โดยสิ่งที่รัฐบาลทำถือว่าเทหมดหน้าตักแล้ว ไม่ทำไม่ได้

ทางเลือกมีไม่มาก มาตรการที่ออกมาถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย เยียวยาให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เศรษฐกิจจะฟื้นไหม ยังยากคาดการณ์ แต่ถ้าไม่ใส่เงินเข้าไป ตายแน่นอน”