‘The Year Earth Changed’… สารคดีที่ทุกคนต้องดู

‘The Year Earth Changed’… สารคดีที่ทุกคนต้องดู

สารคดีโดย BBC จัดจำหน่ายโดย “Apple TV+” พาไปพบโลกหลังโรคระบาด เมื่อถนนไร้ร้างผู้คนและรถรา หากป่าและมหาสมุทรกลับฟื้นคืนชีพ ใน “The Year Earth Changed” โควิดทำให้โลกเปลี่ยน แล้วคุณล่ะ...พร้อมจะเปลี่ยนหรือยัง?

คำถามที่ท้าทายนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้ชมสารคดีผลงานของ BBC เรื่อง The Year Earth Changed กำกับโดย Tom Bread บรรยายโดย เซอร์ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (David Attenbourogh) นักทำสารคดี นักธรรมชาติวิทยา และผู้บรรยายภาพยนตร์สารคดีชาวอังกฤษ ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 60 ปี ของเซอร์เดวิด อยู่กับธรรมชาติและสัตว์ป่า เป็นสารคดีอีกเรื่องที่ต้องดู ภายใต้การทำงานของ BBC ผู้ทำสารคดีที่ดีที่สุดในโลก ทั้งการถ่ายภาพ การดำเนินเรื่อง การบรรยาย จนถึงดนตรีประกอบ

162266505280

    เมืองร้างหลังประกาศล็อกดาวน์ (ภาพ Apple TV+)

โดยสารคดีเรื่องนี้ ท่านเซอร์ ในวัย 94 ปี ยังคงเดินทางไปสุดขั้วโลก เพื่อถ่ายทำและให้เสียงบรรยาย สารคดีโลกเปลี่ยน เริ่มถ่ายทำหลังโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ทีมงานไปเก็บภาพเมืองต่าง ๆ ใน 5 ทวีป เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนอยู่บ้าน ถนนที่ไร้ร้างผู้คน รถหยุดวิ่ง ไม่มีการเดินทางไม่ว่าจะเครื่องบิน รถไฟ หรือเรือ เมื่อมนุษย์หยุดกิจกรรมทุกอย่างโลกก็เข้าสู่ความสงบ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่ตื่นคือ “ธรรมชาติและสัตว์ป่า”

162266509753

     David Attenborough (Photo by Gavin Thurston/ Courtsey of BBC America)

เช่น การจราจรในซานฟรานซิสโกลดลง 70% ทำให้ทีมงานสามารถบันทึกเสียง “นกกระจอกหัวมงกุฎสีขาวดำ” ชัดเจนขึ้น หลังจากไม่ได้ยินเสียงเจ้านกชนิดนี้มาตั้งแต่ปี 1950 เหตุเพราะพวกมันอาศัยอยู่ใต้สะพานโกลเด้นเกท 

มาตรการให้คนอยู่กับบ้าน งดการเดินทาง ทำให้เรือสำราญหยุดเดินเรือ นักท่องเที่ยวที่ปกติล่องเรือสำราญไปอลาสก้าปีละ 1 ล้านคน ก็หยุด ไม่มีเรือ ไม่มีมนุษย์ ทำให้นักวิจัยไปวัดเสียงของ วาฬหลังค่อม ได้ชัดเจนขึ้น และพบว่าพวกวาฬส่งเสียงสื่อสารกันใต้น้ำยาวขึ้นอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และแม่วาฬสามารถไปหากินไกลขึ้นโดยปล่อยลูกไว้เพียงลำพังได้ เพราะเมื่อส่งเสียงหาลูกก็จะได้ยิน วาฬที่ส่งเสียงหากันทำให้อัตราการรอดชีวิตของลูกวาฬเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนลูกวาฬมีโอกาสรอดเติบโตแค่ 7%

162266544431

     วาฬหลังค่อมส่งเสียงได้ไกลและชัดขึ้น (ภาพ : Apple TV+)

3 เดือนหลังล็อกดาวน์ มีผู้คนเดินตามถนนลดลง 90% ทำให้สัตว์ป่าถือโอกาสเข้ามาเดินเล่นในเมือง ตั้งแต่ ฮิปโปในอัฟริกาใต้, หมาป่า, พูม่า ในชิลี, หนูยักษ์ คาปิบาร่า ในอาร์เจนติน่า กระทั่งรีสอร์ทแห่งหนึ่งในอัฟริกาใต้ ซึ่งไร้ร้างผู้คน ทำให้กวางเข้ามาเดินเล่นและกินต้นไม้ใบหญ้าในสวนของรีสอร์ท ลิงก็มา นกก็มา จนถึง เสือดาว ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการล่า จากนักล่ากลางคืนเข้ามากินกวางตอนกลางวันแสก ๆ ในขณะที่ช่างภาพกำลังบันทึกภาพกวาง เสือดาวก็ย่องเข้ามาใกล้ขนาด 3 ก้าว...ทว่าช่างภาพก็ยังคงทำหน้าที่คือถ่ายทำต่อไป เมื่อเสือดาวเดินผ่านไป ช่างภาพบอกว่า “ผมเคยเจอสิ่งที่น่ากลัวก็เยอะนะ แต่ครั้งนี้ชนะเลิศ...” 

162266620182

    เจอเสือดาวจัง ๆ แต่ช่างภาพยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ภาพ : Apple TV+)

การหยุดเดินทางของมนุษย์ทำให้มลพิษทั่วโลกลดลง คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 6% มากที่สุดนับแต่เคยวัดมา อากาศในแอลเอดีที่สุดในรอบ 40 ปี มลพิษในจีนลดลงกว่าครึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในอินเดีย ระดับออกซิเจนเพิ่มขึ้น 80% เมื่อประกาศล็อกดาวน์ไปแค่ 12 วัน ชาวเมือง Jalandhar ในอินเดียถึงได้เห็นเทือกเขาหิมาลัย บางคนบอกว่าเคยเห็นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี เพิ่งรู้ว่าหิมาลัยอยู่ใกล้ขนาดนี้และสวยขนาดนี้...

162266625390

    เทือกเขาหิมาลัยอยู่ตรงหน้า แต่ไม่เคยเห็นมาตลอด 30 ปี (ภาพ : Apple TV+)

ซาฟารีส่องสัตว์ในอัฟริกาใต้ ปกติมีนักท่องเที่ยวปีละ 4.2 ล้านคน ทุ่งซาวันนาในมาไซมาร่า นักท่องเที่ยวปีละ 3 แสนคน ภาพรถจี๊ปที่พุ่งไปถ่ายภาพสัตว์ป่านั้นยังกับถนนสุขุมวิท แล้วสัตว์จะอยู่อย่างอิสระได้อย่างไร ชีตาห์ สัตว์ที่วิ่งเร็วที่สุดไม่สามารถส่งเสียงเรียกลูกได้เมื่อล่าเหยื่อสำเร็จ เพราะเมื่อส่งเสียงดังเกินไปจะทำให้สัตว์นักล่าตัวอื่นได้ยินและลูกจะเป็นอันตราย แต่เมื่อไม่มีรถมาส่องสัตว์ป่าก็เงียบ ทำให้แม่ชีตาห์ส่งเสียงเพียงเล็กน้อยลูกของมันก็ได้ยินและไปหาแม่ได้ เจ้าหน้าที่ซาฟารีบอกว่า แต่ก่อนลูกเสือมีโอกาสรอดเพียง 1 ใน 3 แต่หลังจาก 3 เดือนที่ล็อกดาวน์ เขารู้เลยว่าโอกาสเติบโตของลูกชีตาห์จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่า แรดในเคนย่าจะไม่โดนล่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999

162266631155

    กวางมาเดินเล่นในเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น

ชาวบ้านใน แคว้นอัสสัมในอินเดีย ประชากร 36 ล้านคน มีปัญหากับช้างป่าที่บุกรุกพื้นที่เกษตร จนชาวบ้านต้องตั้งเวรยามคอยขับไล่ช้าง ในที่สุดช้างก็เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อหาอาหารกิน เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นกัน แต่เมื่อมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งกลับจากเมืองหลังถูกเลิกจ้าง เขากลับบ้านไปพร้อมบอกชาวบ้านให้จัดสรรพื้นที่จำนวนหนึ่งปลูกหญ้าและข้าวโตไว เป็นกันชนให้มีระยะห่างจากนาข้าวและพืชไร่ของเกษตรกร ที่จริงคนนั่นแหละไปบุกรุกพื้นที่หาอาหารของช้าง เมื่อชาวบ้านเข้าใจและช่วยกันปลูกพืชโตเร็ว เมื่อถึงเวลาที่ช้างมา ชาวบ้านก็จัดพิธีต้อนรับช้าง พวกช้างเข้ามากินพืชที่ชาวบ้านปลูก กินเสร็จก็จากไปโดยไม่เข้ามาบุกรุกพื้นที่เกษตรอีก เรื่องราวเช่นนี้บอกต่อไปยังชุมชนอื่น ๆ ทำให้สงครามระหว่างมนุษย์กับช้างยุติลงทันที

162266641562

     เต่าทะเลมีโอกาสวางไข่มากขึ้น (ภาพ : Apple TV+)

ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า แม้โควิดพรากชีวิตคนที่เรารักจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัว เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ไม่มีใครอยากแลกสิ่งที่มีกับโรคระบาด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้จากบทเรียนที่เราพบเจอจากธรรมชาติ ที่ตอบสนองโลกอย่างรวดเร็ว เราจึงควรหาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาทำต่อ และเข้าใจว่ามนุษย์กับสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันได้เพียงแค่เราเปลี่ยนวิถีชีวิตเพียงเล็กน้อย

162266636012

    สารคดีที่ต้องดู (และดูซ้ำได้)

เมื่อโรคระบาดหายไปเราก็ไม่ควรกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะโลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว อะไรที่เราเปลี่ยนได้ นักวิจัยในเรื่องแนะนำไว้เช่น ขับเรือช้าลง ส่งเสียงน้อยลง ลดการทำลายโลก จัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ ห้ามเข้าชายหาดบางช่วง ฯลฯ

ปีนี้โลกเปลี่ยน แล้วมนุษย์เรา..พร้อมจะเปลี่ยนมั้ย

สารคดี The Year Earth Change ผลิตโดย BBC Natural History Unit ความยาว 48 นาที

กำกับ : Tom Beard

บรรยาย : David Attenborough

จัดจำหน่าย : Apple TV+ (สมัครสมาชิกชมได้ บรรยายไทยถูกลิขสิทธิ์)