รัฐบาลเข้มสั่งคุมทุจริตโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

รัฐบาลเข้มสั่งคุมทุจริตโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

รัฐบาลเข้มสั่งคลังคุมเข้มป้องกันการทุจริต 4 โครงการเยีวยา - กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ตั้งสายด่วนรับเรื่องแจ้งเบาะแส สศค.รายงานแนวทางป้องกันโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ใช้ระบบ OTP ยืนยันการใช้จ่าย ตั้งคณะทำงานมี สตช.ร่วมหากพบทำผิดยึดเงินคืนพร้อมห้ามเข้าร่วมโครงการ

​แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ระลอกล่าสุดจำนวน 4 โครงการวงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาทใน 4 โครงการได้แก่โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม 200 บาทเป็นระยะเวลา 6 เดือน และโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือพิเศษไปแล้วนั้น 

ครม.ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ในกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการได้ตามที่ ครม.อนุมัติให้ สศค.เร่งเสนอครม.เพื่อขอเปลี่ยนแปลงมาตรการให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

นอกจากนั้น ครม.ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในโครงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.โดยสั่งการให้ สศค.จัดให้มีสายด่วนเพื่อรับแจ้งเบาะแสความผิดปกติในการใช้จ่ายเงินภายใต้โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 4 โครงการ เพื่อให้การป้องกันการทุจริตมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ สศค.ได้นำเสนอแนวทางการป้องกันการทุจริตโครงการให้ ครม.พิจารณาซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการตรวจสอบโครงการใน 2 ระดับได้แก่ 1.กลไกการตรวจสอบโดยกรมสรรพากร จะตรวจสอบธุรกรรมโดยประเมินภาษีจากหลักฐานต่างๆว่าตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ได้แก่ รายการภาษีซื้อ - ภาษีขาย รายเดือน รายงานสินค้า และวัตถุดิบสินค้าในร้านค้า ตรวจสอบจากแบบแสดงรายการรวมถึงชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือน 

2.กลไกตรวจสอบผ่าระบบ โดยจะมีการจัดทำระบบเพื่อลดการเกิดธุรกรรมหรือพฤติกรรมการทุจริต เช่น ระบบการเฝ้าระวังพฤติกรรมยอดใช้จ่ายต่อครั้ง หากมีมูลค่า 5,000 บาทซ้ำๆกัน  การจำกัดจำนวนครั้งการขอ OTP ต่อวันต่อเบอร์โทรศัพท์ภายใต้แอพพลิเคชั่นถุงเงิน เป็นต้น และกำหนดให้การคืนวงเงินสิทธิในรูปแบบอี-วอยเชอร์ทุกต้นเดือนถัดไปทำให้มีระยะเวลาในการตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นหากมีความผิดปกติ 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยมีคณะทำงานได้แก่ ที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการ สศค.ที่ได้รับมอบหมาย,ผู้แทนกรมสรรพากร,ผู้แทนกรมบัญชีกลาง,ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 

ทั้งนี้หากมีการพบว่ามีการทุจริตในโครงการนี้ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีการถูกระงับแบบชั่วคราวจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานเพื่อพิจารณาหากคณะทำงานพิจารณาพบว่า ผู้ประกอบการมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการจริง คณะทำงานจะนำเสนอเรื่องต่อผู้อำนวยการ สศค.เพื่อระงับสิทธิผู้ประกอบการเป็นการถาวร และดำเนินการนำส่งเรื่องให้ สตช. พิจารณาสืบสวนสอบสวนความผิดอาญาต่อไป โดย สตช. จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานภายใน สตช. เพื่อดำเนินการร่วมกับตำรวจภูธรภาคและตำรวจท้องที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ หากพบการกระทำความผิดจะได้ดำเนินการเรียกเงินคืนจากร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องตามแต่กรณี หรือดำเนินการทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ผู้ประกอบการหรือประชาชนที่ทำผิดเงื่อนไขโครงการภายใต้กระทรวงการคลัง อาจจะถูกการพิจารณาไม่ให้เข้าร่วมโครงการอื่น ๆ ของกระทรวงการคลังในอนาคตด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในการหารือของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ได้หารือกันว่าเหตุที่ไม่ทำโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้เช่นเดียวกับโครงการช้อปดีมีคืน ที่ให้นำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษี เนื่องจากผู้มีกำลังซื้อบางส่วนไม่อยู่ในระบบภาษี ขณะที่การคืนเงินในลักษณะของ e-Voucher จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์นำไปซื้อสินค้าและบริการอีกครั้ง จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประมาณ 268,000 ล้านบาท

โดยภาครัฐจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นๆ รวมประมาณ 28,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเงินลงทุนโครงการ อีกทั้งภาครัฐจะมีภาระในการสนับสนุนทางการเงินในภาพรวมต่ำกว่ามาตรการช้อปดีมีคืน ที่ประชาชนที่มีเงินได้สุทธิในขั้นสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะได้รับลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 35% ขณะที่โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รัฐสนับสนุน e-Voucherแบบขั้นบันไดในอัตรา 10-15% นอกจากนี้ ร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นอาจไม่รวมกับผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม เนื่องจากรับได้ออกมาตรการที่สนับสนุนภาคท่องเที่ยวจำนวนมากแล้ว