คุมเข้ม 'คลัสเตอร์โรงงาน' แหล่งระบาดโควิด-19 ในต่างจังหวัด

คุมเข้ม 'คลัสเตอร์โรงงาน' แหล่งระบาดโควิด-19 ในต่างจังหวัด

'คลัสเตอร์โรงงาน' ในต่างจังหวัด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคโควิด-19 สู่ชุมชน ซึงมีหลายจังหวัดที่่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำมาตรการ D-M-H-T-T ช่วยป้องกันโรค

วานนี้ (2 มิ.ย.2564 )พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันว่า ขณะที่การรายงานผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศจำนวน 10 อันดับแรก  ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รายวัน 680 ราย รวมตั้งแต่วันที่  1 เม.ย.-2 มิ.ย. สะสม 43,117 ราย สมุทรปราการ รายวัน 466 ราย สะสม  7,738 ราย เพชรบุรี รายวัน 449 ราย สะสม 6,361 ราย

ตรัง รายวัน 176 ราย สะสม 841 ราย สมุทรสาคร รายวัน 78 ราย สะสม 2,717 ราย นนทบุรี รายวัน 62 ราย สะสม 6,979 ราย  ปทุมธานี รายวัน 39 ราย สะสม 3,722 ราย นราธิวาส รายวัน 34 ราย สะสม 964 ราย พระนครศรีอยุธยา รายวัน 33 ราย สะสม 1,277 ราย และชลบุรี 29 ราย สะสม 4,743 ราย

  • ‘คลัสเตอร์โรงงาน’แพร่ระบาดในต่างจังหวัด

ทั้งนี้ ในส่วนของ 'คลัสเตอร์ต่างจังหวัด' ส่วนใหญ่จะเกิดการแพร่ระบาดจากโรงงานก่อนสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น

จ.สมุทรปราการ มีคลัสเตอร์ที่ตลาดสำโรง มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 186 ราย โรงงานผลิตจำหน่ายซอส 36 ราย และมีโรงน้ำแข็ง 74 ราย และพื้นที่บางพลี พบในพื้นที่ชุมชนและเคหะบางพลี อีก 16 ราย 

  • ทบทวนมาตรการคุมเข้ม 'โรงงาน'

จ.เพชรบุรี ยังคงเป็น 'คลัสเตอร์โรงงาน'ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขณะนี้มีการแพร่กระจายไป 11 จังหวัด และพบว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ อีก 438 ราย ทำให้เพชรบุรี อยู่ในการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อันดับที่ 3 ยอดสะสมของทั้งจังหวัดวันนี้ อยู่ที่ 4,914 ราย

จ.ตรัง เป็น 'คลัสเตอร์โรงงาน'ผลิตถุงมือ ซึ่งยังคงมีการระบาดต่อเนื่อง และมีการคัดกรองเชิงรุก เริ่มเห็นการระบาดไปยังชุมชน ฝากพี่น้องอ.เมือง อ.กันตัง อ.ย่านตาขาว ต้องระมัดระวังการเดินทางข้ามพื้นที่

จ.สมุครสาคร 'คลัสเตอร์โรงงาน' ในพื้นที่กระทุ่มแบน จากโรงงานผลิตสินค้าเด็กพบรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 42 ราย และในส่วนของ

จ.นราธิวาส พื้นที่ตากใบ รายงานในชุมชน เพิ่ม 28 ราย  

จ.อยุธยา เป็น'คลัสเตอร์โรงงาน'บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์  11 ราย และในพื้นที่ต่างๆ มีการคัดกรองเชิงรุก และติดตามไปยังชุมชน

  • ย้ำป้องกันด้วยมาตรการ  D-M-H-T-T อย่างเข้มข้น

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่าที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก มีการหารือร่วมกันในส่วนของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่จ.สระบุรี  ซึ่งตอนนี้มีการกระจายไปหลายๆ จังหวัด โดยในส่วนการรายงานโรงงานแรก โรงงานชำแหละไก่ มีจำนวนพนักงานมาก ทั้งชาวไทย ประมาณ 4,000 กว่าคน และชาวต่างชาติอีก 1,000 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติกัมพูชา โดยกลุ่มคนที่มีการติดเชื้อได้ทำงานในหลายรูปแบบ พนักงานแปรรูปชิ้นไก่  พนักงานเตรียมวัตถุดิบ และพนักงานออฟฟิค  ทำให้เห็นว่ามีการติดเชื้อกันทั้งโรงงาน

ทั้งนี้ 'กรมควบคุมโรค' ได้มีการวิเคราะห์ 'คลัสเตอร์โรงงาน' ถึงลักษณะของที่พัก การเดินทาง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนงานทั้งคนไทยและคนต่างชาติ พบว่า ที่พักอาศัยของคนงานคนไทย มีทั้งอาศัยบ้านส่วนตัว และอยู่หอพักบริเวณหน้าโรงงานหรือรอบๆ ขณะที่คนงานคนต่างชาติ จะอาศัยอยู่หอพักที่โรงงานจัดให้เป็นหลัก

ส่วนการเดินทาง มีทั้งเดินทางด้วยรถส่วนตัว และรถรับส่งของโรงงาน  ด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต พบว่า ที่พักของคนงานมีความแออัด บางห้องพักอยู่ร่วมกัน 2-3 คน มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน

ในส่วนของคนงาน พบว่ามี กลุ่มแรงงานฝีมือ แรงงานช่างมีการติดเชื้อน้อยมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อน้อย พบว่า กลุ่มดังกล่าวมีการป้องกันกลุ่ม ด้วย มาตรการ D-M-H-T-T อย่างเข้มข้น