อย่าให้ ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น’ ทำลายธุรกิจ

อย่าให้ ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น’ ทำลายธุรกิจ

การที่ธุรกิจกว่า 3 ใน 4 ล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำเรื่องนี้ หัวใจสำคัญของความสำเร็จขึ้นอยู่กับการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านของธุรกิจ

โควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นภาคบังคับ หลายแห่งที่คิดว่าพร้อมพอเอาเข้าจริงก็ยังตอบกันไม่ค่อยได้ว่าต้องทำย่างไรถึงจะสามารถพลิกโฉมธุรกิจให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่าธุรกิจที่พยายามปรับตัวมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นเอง ยิ่งถ้าเป็นการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โอกาสสำเร็จก็ยิ่งมีน้อยกว่านี้อีก เฉพาะในสหราชอาณาจักรที่เดียว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวนี้มีมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

ความล้มเหลวเกิดจาก 4 เหตุผลสำคัญ

1.ล้มเหลวเพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ความน่ากลัวของกระแสดิจิทัลที่มาพร้อมกับโลกยุค 4.0 คือ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก จนทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่เปลี่ยนตามให้เร็วก็จะไม่สามารถแข่งกับคนอื่นเขา ความคิดแบบนี้เองที่ทำให้เราเลือกเทคโนโลยีใหม่มาใช้แบบตามกระแส ใครใช้อะไรแล้วเห็นว่าดีก็เอามาใช้เหมือนเขา โดยไม่คิดให้ดีว่าเทคโนโลยีนั้นเหมาะสมกับธุรกิจของตนเองแค่ไหน พอไม่ได้เลือกให้เหมาะสม เงินที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า

2.ล้มเหลวเพราะมีแผนแต่ไม่มีวิธีการที่ดีในการทำตามแผน แม้จะสามารถระบุได้ว่าเทคโนโลยีแบบไหนเหมาะกับธุรกิจของตนเอง แต่ก็ยังมีธุรกิจไม่น้อยที่ตกม้าตายเพราะมีแค่แผนแต่ขาดวิธีการทำตามแผน ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังว่าต้องเริ่มจากที่ไหน การปรับตัวในส่วนไหนจะเป็นพื้นฐานรองรับการปรับตัวส่วนอื่น

3.ล้มเหลวเพราะคิดไม่กี่คนแต่จะให้ทุกคนยอมรับ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งหมด ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ดังนั้น ก่อนเปลี่ยนแปลงควรพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของพนักงานและลูกค้าก่อน ซึ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

นกตัวแรก คือจะได้ตรวจสอบดูว่าสิ่งที่คิดไว้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะคนทำงานย่อมรู้เรื่องนี้ดีกว่าผู้บริหารที่อาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติของงานในแต่ละส่วนได้ลึกซึ้งเท่าคนที่ทำเรื่องนั้นโดยตรง การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นและมีการปรับแนวทางตามข้อเสนอ ทั้งยังทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการสั่งการจากข้างบนเพียงอย่างเดียว 

นกตัวที่สอง คือการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารเพื่อให้พนักงานและลูกค้าทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ช่วยให้ทุกคนมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแต่เนิ่นๆ พอถึงช่วงที่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงจริง ก็จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

4.ล้มเหลวเพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังม้วนเดียวจบ 

การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่หนังม้วนเดียวจบ ที่ทำครั้งหนึ่งแล้วก็รอไปอีก 3 ปี 5 ปีค่อยมาว่ากันใหม่ หัวใจสำคัญของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่ “การเปลี่ยนแปลง” เพียงคำเดียว แต่เป็น “การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โอบรับเอาการเปลี่ยนแปลงมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของลูกค้า กลยุทธ์ของคู่แข่ง การกำกับดูแลของรัฐบาล ล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้น จนการคาดการณ์ไปข้างหน้าในระยะยาวแทบไม่ช่วยอะไรเลย ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอะไร แต่เป็นใครที่สามารถปรับตัวได้เร็วและเหมาะสมกว่ากัน

ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอะไร แต่เป็นใครที่สามารถปรับตัวได้เร็วและเหมาะสมกว่ากัน

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นคิดให้ไกลแล้วต้องไปให้ถึง

การที่ธุรกิจกว่า 3 ใน 4 ล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำเรื่องนี้ ตรงกันข้าม หากเราสามารถเป็นเหมือนธุรกิจอีก 1 ใน 4 ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ก็แสดงว่าเราสามารถทิ้งห่างคู่แข่งได้หลายขุม หัวใจสำคัญของความสำเร็จขึ้นอยู่กับการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตัวเอง มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน รู้จักจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังว่าอะไรต้องทำก่อนอะไรต้องทำที่หลัง ไม่ตื่นตูมเต้นตามคนอื่นเขา แต่ก็ไม่ใจเย็นจนเกินไปจนปล่อยให้คนอื่นทิ้งห่าง

นอกจากนี้แล้ว ต้องเข้าใจว่าการทำเรื่องนี้ไม่ใช่การพลิกโฉมองค์กรแบบรวดเดียวพร้อมกันทั้งหมดโดยไม่ประเมินความพร้อม เพราะหากทำแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นทำลายแบบถอนรากถอนโคนจนไม่ได้ผลอย่างที่หวังไว้