‘เยอรมนี’ ป่วยโควิดเรื้อรัง กว่า 3 แสนรายเขย่าระบบ สธ.ประเทศ

‘เยอรมนี’ ป่วยโควิดเรื้อรัง กว่า 3 แสนรายเขย่าระบบ สธ.ประเทศ

"เยอรมนี" พบผู้ป่วยโควิด-19 ภาวะเรื้อรัง มากกว่า 3.5 แสนราย หวั่นกระทบระบบสาธารณสุข

อันยา คาร์ลิกเชก รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวิจัยของเยอรมนี เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าเยอรมนีตรวจพบประชาชนราว 350,000 คน ประสบภาวะ “โควิดระยะยาว (long COVID) ซึ่งหมายถึงการมีอาการเรื้อรังระยะยาวหลังติดเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อโรคโควิด-19

คาร์ลิกเชกระบุว่า “สิ่งอันตราย” เกี่ยวกับภาวะป่วยโควิดระยะยาวคือ “เกิดขึ้นโดยไม่สัมพันธุ์กับความหนักหน่วงของโรค” โดยอาจพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงหรืออาการเล็กน้อย

ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 10 ของประชากรในเยอรมนีต้องต่อสู้กับผลกระทบระยะยาวหลังติดเชื้อไวรัส ที่คงอยู่นานกว่า 3 เดือน

คาร์ลิกเชกกล่าวว่าอาการของป่วยโควิดระยะยาว แตกต่างกันในแต่ละบุคคล และมีอาการประมาณ 50 รายการที่เชื่อมโยงกับป่วยโควิดเรื้อรัง โดยมีการปวดศีรษะซ้ำๆ เหนื่อยล้า และหายใจลำบากเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ส่วนใหญ่

คาร์ลิกเชกประกาศโครงการระดมทุนใหม่สำหรับการวิจัยป่วยโควิดเรื้อรังเพิ่มเติม ซึ่งขั้นต้นมีเงินทุนรวม 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) โดยผลลัพธ์ที่ได้จะปูทางสู่วิจัยและจัดสรรทุนเพิ่มเติม

“ป่วยโควิดระยะยาวจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบการดูแลสุขภาพของเรา เรากำลังเผชิญความท้าทายยิ่งใหญ่ในสังคม และยังเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอีกด้วย” คาร์ลิกเชกกล่าว

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เยอรมนีจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยใหม่ สำหรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยกระทรวงฯ สนับสนุนเครือข่ายดังกล่าวด้วยเงินทุน 150 ล้านยูโร (ราว 5.7 พันล้านบาท) จนถึงสิ้นปีนี้

สถาบันโรแบร์ตค็อก (RKI) ระบุว่าปัจจุบันเยอรมนีมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมเกือบ 3.7 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 88,442 ราย เมื่อนับถึงวันจันทร์ (31 พ.ค.)