ไทยไม่ทนฯ จี้ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-7 กกต.ลาออกยกชุด

แกนนำไทยไม่ทนฯ เดินสายบุกร้อง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-7 กกต.ลาออกจากตำแหน่งยกชุด

วันที่ 1 มิ.. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย นายวีระ สมความคิด นายจตุพร พรหมพันธุ์ นางพะเยาว์ อัคฮาด เดินทางมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือผ่าน ..สิริยา หอมสุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารกลาง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งเพื่อรีเซ็ตประเทศไทยใหม่ โดยหนังสือมีเนื้อหาระบุว่า เป็นที่ปรากฎชัดแล้วว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาจากการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และเมื่อคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจ ได้ยกเลิกหรือฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทิ้ง แต่ไม่ได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นบทบาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเขียนขึ้นภายใต้อำนาจและองค์กรของคณะรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549

ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 273 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงเชื่อมสัมพันธ์เป็นที่มาตามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557

คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ที่มาจากการรัฐประหารแต่งตั้งนั้น ขาดการเชื่อมโยงจากประชาธิปไตยและประชาชน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2564 รวม 15 ปีนั้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตของประเทศ สร้างปัญหาทำลายระบบกฎหมายและการตรวจสอบถ่วงดุลกับรัฐสภา ฝ่ายบริหารอย่างเลวร้าย

ทั้งนี้ ตลอดเวลา 15 ปีของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้อำนาจรัฐประหารได้ทำหน้าที่ล้มการเลือกตั้ง ..ทั่วประเทศถึง 2 ครั้ง ปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งถึง 2 คน ยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองถึง 2 ครั้งรวม 220 คน ปล่อยให้การชุมนุมใหญ่ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กลุ่ม กปปส. สร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบ

รวมทั้ง สั่งคว่ำกฎหมายอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 มีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้เหตุผลว่า ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้แก้ไขเสียก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นผู้สมคบคิดกับการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจจากองค์กรประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกับประชาชน

ไม่เพียงเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังทำให้เชื่อได้ว่ามุ่งจะตรวจสอบและลงโทษพรรคการเมืองของฝ่ายประชาชนเช่นพรรคอนาคตใหม่เป็นต้น แต่กลับไม่กล้าตรวจสอบกบฏที่มาจากรัฐประหาร จนสังคมเคลือบแคลงว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือมุ่งพิทักษ์รัฐบาลและกบฏที่มาจากทำรัฐประหาร

ด้วยเหตุนี้ คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จึงให้ตุลาการศาลธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรีเซ็ตหรือล้างข้อผิดพลาดที่ค้างอยู่ แล้วทำให้ระบบเข้าสู่สภาวะปกติตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหนทางนำเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับมายืนเคียงข้างประชาชน มีความชอบธรรม เป็นกลาง อิสระ และความเสมอภาคทางกฎหมาย

คณะสามัคคีประชาชนเชื่อว่าว่ารัฐสภามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาจำเป็นต้องกำหนดที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนดั่งเช่นองค์กรนิติบัญญัติ จึงจะมีความชอบธรรมในการถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างสง่างาม

ดังนั้น กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำต้องกลับไปเชื่อมโยงกับประชาชน โดยให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนเป็นผู้เลือก นอกจากนี้ยังอาจสร้างความสมดุลกับอำนาจบริหารได้โดยกำนดให้รัฐบาลเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วให้รัฐสภาลงมติเลือกบุคคลจากรายชื่อเหล่านั้นด้วยเสียงข้างมาก

ดังนั้น คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เชื่อมั่นว่า การรีเซ็ตประเทศไทยจะสามารถเริ่มต้นกันได้ใหม่ ด้วยการเสียสละของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลาออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพื่อให้ประเทศไทยได้เดินหน้าต่อไปได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาการร้องขอของประชาชนที่ปรารถนาจะเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

162253063584

จากนั้นกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เดินทางต่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ศูนย์ราชการ เพื่อยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกยกชุดทั้ง 7 คน โดยในหนังสือมีเนื้อหาระบุว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 222 ประกอบมาตรา 224 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คนมาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา และมีอำนาจจัดหรือดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ขณะที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันมาจากการคัดเลือกของรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม2562 จัดเป็นการแสดงบทบาทและทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งแรกของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสังคมอย่างกว้างขวางถึงการทำหน้าที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นกลางตามเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ตามมาตรา 224 (1)-(6)

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ถูกร่างขึ้นตามคำสั่งของกบฏที่ทำรัฐประหาร ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือหัวหน้ากบฏ พร้อมกับวุฒิสภาที่แต่งตั้งจากคณะกบฏ และคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันก็ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภาที่มาจากกบฏที่เรียกว่าระบอบประยุทธ์ นอกจากนี้ ระบอบประยุทธ์ ยังเป็นเจ้าของพรรคพลังประชารัฐลงแข่งขันการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้ระบอบประยุทธ์ จัดสรรบุคคลเข้าไปอยู่ในสังกัดสั่งการ ครอบงำทั้งรัฐสภา รัฐบาล อีกทั้งองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จ

ภายหลังประชาชนใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งปี 2562 สังคมได้กังขาผลการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่ประกาศจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ผิด ระบบรายงานคะแนนล่ม คะแนนของผู้สมัครบางคนถูกปรับลด การเลือกตั้งล่วงหน้าแจกบัตรผิดเขต และสูตรคำนวนปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ที่ได้รับการรับรองจากองคาพยพในระบอบประยุทธ์ จนสามารถพลิกจำนวน ..ของพรรคพลังประชารัฐให้มีจำนวนมากขึ้น จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลค้ำยันระบอบประยุทธ์ ได้สืบทอดอำนาจกบฏให้มีอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้

บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ส่อถึงพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ แสดงถึงการจัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใส มีการทุจริต แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับไม่กระตือรือร้นทำหน้าที่ตรวจสอบ อีกทั้งยังถ่วงรั้งประกาศจัดสรรระบบบัญชีพรรคการเมืองไว้นานถึง45 วัน กระทั่งเกิดเสียงเรียกร้องให้ประกาศคะแนนรายหน่วยเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทยเห็นว่า การทำหน้าที่อันเคลือบแคลง ประกอบกับบทบาทที่มาจากองคาพยพกบฏในระบอบประยุทธ์ จึงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีความสุจริตและไม่เที่ยงธรรม คำนึงถึงแต่จะทำหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมาย การสืบทอดอำนาจของกบฏ เป็นการทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทยจึงเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกยกชุดทั้ง 7 คน เพื่อแสดงออกถึงการรับผิดที่ผ่านมา ทำให้ระบบเข้าสู่สภาวะปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แสดงถึงการรีเซ็ตประเทศไทยใหม่ ให้มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชน อันนำไปสู่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้โปรดพิจารณาการร้องขอของประชาชนเพื่อให้เกิดความเจริญสถาพรในระบอบประชาธิปไตยสืบไป