ชำแหละ“ปม-ชนวน” ขัดแย้ง  “ประยุทธ์-พปชร.” VS “ภูมิใจไทย”

ชำแหละ“ปม-ชนวน” ขัดแย้ง  “ประยุทธ์-พปชร.” VS “ภูมิใจไทย”

หากยังเป็นลูกไล่ของ “ประยุทธ์-ขุนทหาร” การันตีได้ว่าทั้ง “เนวิน-อนุทิน-ขุนพลภูมิใจไทย” ย่อมหาทางไปต่อเช่นกัน

“หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะยืนยันเสียงแข็งว่าจะ “ไม่ถอนตัวร่วมรัฐบาล” แต่กลับส่งคำถามไปถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ว่าพรรคภูมิใจไทย ยังมีความหมายอยู่หรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่า “ภูมิใจไทย” คือพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีจำนวนเสียง 61 เสีย เป็นพรรคร่วมรัฐบาลลำดับหนึ่ง ที่หาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเขี่ยทิ้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้จะมีข่าวปล่อย-ข่าวลือว่า “3 ป.” ไม่ปลื้มที่ “ภูมิใจไทย” สร้างเงื่อนไขต่อรองทางการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่มี “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม น้องเลิฟของ “เสี่ยเน” เนวิน ชิดชอบ ลูกพี่ใหญ่พรรคภูมิใจไทย
โดย “3 ป.” ต้องการปรับ “ภูมิใจไทย” ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมยื่นดีลดูด “ส.ส.ฝ่ายค้าน” พุ่งเป้าไปที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งสูตรดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ยังไม่ได้ถูกงัดมาใช้ เนื่องจาก “ภูมิใจไทย” ยังไม่ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลทว่าความขัดแย้งในระยะหลังเริ่มรุนแรงขึ้น จนจับอาการได้ว่า “3.ป” ไม่แฮปปี้ “ภูมิใจไทย” อย่างหนัก
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความขัดแย้งระหว่าง “ประยุทธ์-พปชร.” VS “ภูมิใจไทย” เพื่อย้อนให้เห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย กินแหนงแคลงใจกันมาตั้งแต่ร่วมก่อตั้งรัฐบาล
+ ปม“ประยุทธ์”หัก“อนุทิน”
วันที่ 9 เม.ย.2564 “พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน โดยมอบหมายให้ “นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร” เป็นประธาน มีข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข 18 คนร่วมเป็นกรรมการ แต่ไม่ปรากฏชื่อของ “อนุทิน” ในคณะทำงานชุดดังกล่าว
ทำให้ “อนุทิน” ต้องออกมาตอบโต้ว่า “คณะทำงานฯ ทำหน้าที่วางแนวทางมาตรการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมมาให้บริการประชาชน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่จัดซื้อวัคซีนและบริหารจัดการวัคซีนไปให้ถึงประชาชนเร็วที่สุด”
วันที่ 27 เม.ย. ครม.เห็นชอบการโอนอำนาจใน 31 กฎหมายให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายในอำนาจของ “อนุทิน” ในฐานะรมว.สาธารณสุข ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “อนุทิน” โดนริบอำนาจ
แต่คราวนี้เป็น “ลูกพรรคภูมิใจไทย” ที่ออกมาตอบโต้แทน “นาย” โดย “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวตอบโต้ว่า “การใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่นายกฯประยุทธ์ ถนัดที่สุด จึงไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับโรคระบาด”
วันที่ 6 พ.ค. “พล.อ.ประยุทธ์” แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ขณะที่ “อนุทิน” เป็นเพียงที่ปรึกษา

+ หักดิบเลิก“วอล์คเอาท์วัคซีน-หมอพร้อม”
วันที่ 18 พ.ค. “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งเบรกแนวทาง Walk-in ฉีดวัคซีน โดยอ้างว่าประชาชนจะมาลงทะเบียนเยอะ จนไม่สามารถฉีดได้ทัน และอาจจะทำให้ประชาชนแออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด จึงปรับไปใช้รูปแบบ On-site ลงทะเบียนหน้าศูนย์ฉีด หากไม่ได้ฉีดระบบจะนัดวันฉีดทันที
“อนุทิน” ออกมาตอบโต้อีกครั้งว่า “การฉีดวัคซีนไม่ว่าจะใช้คำอะไรก้แล้วแต่ สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าในแต่ละวันมีวัคซีนเหลือเท่าไร วัคซีนจะเหลือไม่ได้”
วันที่ 26 พ.ค. “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งชะลอการลงทะเบียนหมอพร้อม ปรับรูปแบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ กระจายวัคซีนให้พื้นที่ระบาดหนักมากกว่าพื้นที่ระบาดน้อย
“อนุทิน” ไม่พลาดที่จะตอบโต้กลับว่า “ต้องไปถามนายกฯว่าพรรคภูมิใจไทย มีความหมายหรือไม่ ในการเป็นพรรคร่วม ถ้าไม่มีความหมายก็ค่อยว่ากัน แต่เชื่อว่าทุกคนมีความหมาย และทำงานได้ ยืนยันว่าไม่มีน้อยใจ”
ล่าสุดวันที่ 28 พ.ค. ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีน บริเวณศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนปมวัคซีนการเมือง โดยมี “อนุทิน” อยู่ข้างกาย ระบุว่า “ไม่มี ผมเข้าใจกันหมด ผมคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร มันมีปัญหาเพราะมีคนยุแยงตะแคงรั่วอยู่แถวนี้” แม้จะเข้าใจว่าท้ายประโยคเจตนาต่อว่าสื่อมวลชนที่เขียนข่าววิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาวัคซีน แต่อีกนัยก็ไม่พ้นถูกตีความกระทบชิ่งไปยังคนข้างๆ อย่างอนุทินด้วยหรือไม่ 
+ “เนวิน-ศักดิ์สยาม”ปมรถไฟฟ้าสีเขียว-ส้ม
ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล กทม. ยังขัดแย้งกับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รมว.คมนาคม น้องชายของ “เนวิน ชิดชอบ” พี่ใหญ่พรรคภูมิใจไทย กรณีต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยกทม.ต้องการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แก่บริษัทเอกชน แต่ “เนวิน-ศักดิ์สยาม” ไม่เห็นด้วย โดยกระทรวงคมนาคมยกหลายเหตุผลมาคัดค้าน จน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่พอใจ
อีกทางหนึ่ง ว่ากันว่า “เนวิน-ศักดิ์สยาม” เดินเกมล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายส้มจน รฟม.-คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 และเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูลใหม่เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 จนเกิดเรื่องฟ้องร้องตามมาหลายคดี ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถูกนำมาต่อรองโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
+ เงื่อนไขรถไฟทางคู่สายใหม่ 5 สัญญา
 นอกจากนี้ ยังมีกรณีโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 5 สัญญา ที่เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่าง “3 ป.” กับ “เนวิน-ศักดิ์สยาม” ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ รวมระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) 3 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ช่วง “เด่นชัย-งาว” ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 17 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียง 2 ราย ผลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 26,568 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 31 ล้านบาท คิดเป็น 1.12% ของราคากลาง
สัญญาที่ 2 ช่วง “งาว-เชียงราย”ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 18 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียง 2 ราย ผลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 26,900 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 13 ล้านบาท คิดเป็น 0.05% ของราคากลาง 
สัญญาที่ 3 “เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 16 ราย แต่มีผู้ยื่นเสนอราคาเพียง 2 ราย ผลเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 19,390 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 16 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% ของราคากลาง
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ทั้ง 3 สัญญา มีการเสนอราคาต่ำสุด ซึ่งใกล้เคียงกับราคากลางอย่างมาก จนถูกจับตาว่าจะมีการฮั้วการประมูลหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวอีกว่าการดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ “เนวิน” ขอไม่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ปลด “ศักดิ์สยาม” พ้น ครม. ภายหลังเปิดปัญหาโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งมาจากคลัสเตอร์ท่องหล่อ แม้ “ศักดิ์สยาม” จะปฏิเสธก็ตาม

+ ส.ส.ภท.โหวตหักมติพรรคร่วม 3 ครั้ง
นอกจากระดับแกนนำพรรคภูมิใจไทยแล้ว บรรดาลูกพรรคภูมิใจไทยก็มีหลายครั้งที่เคลื่อนเกมการเมืองสวนทาง “พล.อ.ประยุทธ์-พปชร.” ไล่ตั้งแต่ วันที่ 5 มิ.ย. 2562 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย งดออกเสียงโหวตเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 27 ก.พ. 2563 – นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย โหวตไม่ลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ 5 รัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
วันที่ 17 มี.ค. 2564 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย วอร์คเอ้าโหวตแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3
+ จับตา“เนวิน”แยกวงพรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งหมดคือฉากแตกร้าวระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์-พปชร.” กับ “เนวิน-อนุทิน-ภูมิใจไทย” แม้โอกาสที่ “เนวิน” จะนำพรรคภูมิใจไทยหวนกลับไปคืนดีกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ปิดตำนานเก่า “มันจบแล้วครับนาย” เพื่อเปิดดีลการเมืองรอบใหม่ “เริ่มต้นกันใหม่ครับนาย” จะมีน้อย  แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น
หากยังเป็นลูกไล่ของ “ประยุทธ์-ขุนทหาร” การันตีได้ว่าทั้ง “เนวิน-อนุทิน-ขุนพลภูมิใจไทย” ย่อมหาทางไปต่อเช่นกัน