'ผู้นำ' กับความยั่งยืน

'ผู้นำ' กับความยั่งยืน

"ผู้นำ" ต้องมีจิตสำนึกของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะไม่เพียงแต่การมุ่งเอากำไรเท่านั้น ปัจจุบันองค์กรจะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยาวนานด้วยเช่นกัน

“ความยั่งยืน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการอยู่ได้ยาวนานของกิจการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความสามารถขององค์กรในการอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยาวนาน (ยั่งยืน) องค์กรในวันนี้จึงมุ่งแต่จะเอา “กำไร” เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปไม่ได้ แต่ต้องประกอบกิจการหรือทำมาค้าขายด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ผู้นำ” ในวันนี้จึงต้องมีจิตสำนึกของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development : SD) โดยต้องผนวกเอาแนวความคิดและวิธีปฏิบัติของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการและการประกอบกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งปัจจุบันนานาประเทศได้ขยายผลไปถึงแนวความคิดในเรื่องของ “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDG) ของ “องค์การสหประชาชาติ” ด้วยแล้ว

ความหมายทางวิชาการที่ผู้คนนิยมอ้างอิงและยึดถือ ก็คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สนองตอบต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง” The Brundtland Commission (ค.ศ.1987)

นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายถึงคำนี้อย่างง่ายๆ ว่า “คนรุ่นปัจจุบันต้องไม่เบียดบังเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อประโยชน์ต่างๆ จนคนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่มีใช้ (ไม่พอใช้) หรือทิ้งมรดกด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้ลูกหลานรับต่อไป” (หากเป็นเช่นที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเป็น “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”)

แนวความคิดนี้ได้ผลักดันให้เกิดกฎระเบียบมากมาย และผลักดันให้ธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ (ประกอบกิจการ) ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมี “ธรรมาภิบาล” (การกำกับดูแลกิจการที่ดี) (Good governance) ที่ดำเนินการภายใต้แนวทางของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม”

เป้าหมายในปี 2030 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งได้ริเริ่มนำแนวความคิดนี้มาใช้และสร้างเสริมสมรรถภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่อๆ ไป) ได้แก่

(1) มีการจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (2) มีการจัดการสารเคมีและของเสียทุกประเภทตลอดวัฏจักรชีวิตและลดการปล่อยสู่น้ำ อากาศ ดิน เพื่อลดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (ภายในปี 2020)

(3) มีการลดและป้องกันการเกิดของเสียด้วยหลักการ 3R คือ ลดการใช้วัตถุดิบ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (4) สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ให้นำแนวทางที่ยั่งยืนไปปฏิบัติและมีการรายงานข้อมูลความยั่งยืน (5) สนับสนุนแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนให้เป็นนโยบายของทุกประเทศ

กรอบความคิดของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงมุ่งให้เกิด “ความสมดุล” ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้ปรากฏเป็น “นโยบาย” ในการบริหารจัดการองค์กรและการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ

แต่ปัจจุบันก็ยังมีกรอบความคิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อันได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) การเติบโตสีเขียว (Green Growth) และ “สีเขียว” อื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการแผนกลยุทธ์หรือแผนกิจกรรมเพื่อช่วยให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคไปสู่วิถีทางที่ยั่งยืนในระยะยาว

ทุกวันนี้ การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในกระบวนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการมีธรรมาภิบาลด้วย

ดังนั้น “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ “ผู้นำยุคสุดท้าย” ปฏิเสธไม่ได้คือต้องทำด้วยใจ (ด้วยความรับผิดชอบ) มากกว่าทำเพราะถูกกฎหมายบังคับหรือสังคมกดดัน เพื่อความยั่งยืนขององค์กร

ยิ่งในโลกของโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ด้วยแล้ว การสนับสนุนและร่วมกันพัฒนา “ชุมชน” ให้เข้มแข็งด้วยจิตสำนึกของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” และ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ยิ่งต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ครับผม!