'โรคดิจิทัล'ในโลกยุคใหม่  

'โรคดิจิทัล'ในโลกยุคใหม่    

ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ต้องรู้ไว้ว่า แสงจากจอภาพ จะไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน สารที่ช่วยให้นอนหลับสบาย และการอยู่กับโลกดิจิทัลนานๆ ยังมีผลต่อร่างกายส่วนอื่น

เมื่อคนอยากให้ประเทศไทยมี "เศรษฐกิจดิจิทัล" กัน แต่อันที่จริงเราก็เข้าสู่ยุคดิจิทัลกันเต็มตัวมานานพอควรแล้ว มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือแท็บเล็ตต่างๆ ออฟฟิศสมัยใหม่ ก็ขาดคอมพิวเตอร์ไม่ได้แล้ว

ในระบบอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ก็แทรกเป็นองค์ประกอบอยู่ในเครื่องจักรกลต่างๆ  แม้แต่เกษตรกรรมก็ยังมีแอปพลิเคชันต่างๆ จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบอะไรกับร่างกายบ้างหรือไม่ ?

คำตอบคือ ชัดเจนว่ามี และมากเสียด้วย บางอย่างอาจลึกซึ้งกระทั่งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของสมองเลยทีเดียว !

อวัยวะแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ดวงตา ครับ  การจ้องมองจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ตต่อเนื่องยาวนานทุก ๆ วัน ส่งผลข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นการตาพร่า ตาลาย ตาแห้ง ปวดหัว ระคายเคืองตา หรือรู้สึกว่าตาไร้พลัง ใช้งานได้ไม่ดีเท่าเก่า ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของกลุ่มอาการที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม (Computer Vision Syndrome) หรือ CVS ทั้งสิ้น

CVS ในแต่ละคนจะแสดงผลช้าเร็ว รุนแรงมากหรือน้อย แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับลักษณะของตัวคนๆ นั้นเอง รวมไปถึงจำนวนความยาวนานของการที่ต้องเพ่งจอในแต่ละครั้ง แต่ละวันด้วย 

ทำไมการจ้องจอนานๆ จึงมีแนวโน้มจะทำให้ตาแห้งมากกว่าการจ้องหน้ากระดาษในเวลาเท่าๆ กัน ?

นักวิจัยพบว่าเมื่อเราดูจอคอมพิวเตอร์ เรามีแนวโน้มจะจ้องตรงไปข้างหน้า ต่างจากการอ่านหนังสือที่มีการก้มหน้าลงเล็กน้อย ทำให้มีส่วนพื้นผิวของดวงตาที่จะสัมผัสอากาศมากกว่า

ที่สำคัญก็คือ โดยธรรมชาติของการจ้องมองจอ เราจะกะพริบตาไม่บ่อยเท่ากับการจ้องมองหน้ากระดาษอีกด้วย และสุดท้าย งานสมัยใหม่และนิสัยคนยุคใหม่ที่แม้จะเลิกงานแล้ว ก็ยังเข้าโซเชียลมีเดียหรือเล่นเกม ก็ต้องทำให้มองจอเพิ่มอีก 

และปัจจัยเสริมข้อสุดท้ายก็คือ หลายคนมีนิสัยการจ้องมองตัวอักษรเล็กๆ บนจอเล็กๆ ของมือถือในระยะที่ใกล้มาก

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องของเรื่องการจ้องมองจอเล็กๆ นี้กับอาการสายตาสั้น แม้ว่าเรื่องนี้จะยังสรุปอะไรไม่ได้ชัดเจนนัก แต่ข้อมูลต่างๆ ชี้ว่า ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป  ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงจากโรคตาแบบ CVS อย่างเห็นได้ชัด

สำหรับคนที่สงสัยว่าการใช้อีบุ๊ครีดเดอร์ (ebook reader) จะดีกว่าการอ่านจากแท็บเล็ตหรือไม่ คำตอบคือ ช่วยถนอมสายตามากกว่าจริง แต่ข่าวร้ายก็คือมีการทดลองอ่านเรื่องสั้นเทียบกันระหว่างอ่านจากหนังสือเล่มกระดาษแบบเดิมๆ กับจากอีบุ๊ครีดเดอร์ แล้ว 1 สัปดาห์ให้หลังก็มาทดสอบความจำว่า อ่านอะไรไปบ้าง ผลคือ คนที่อ่านจากหนังสือเล่มจดจำเนื้อหาได้แม่นยำกว่า

อุปกรณ์ดิจิทัลจึงอาจส่งผลกระทบต่อสมองและการเรียนรู้ของเราด้วย !

นอกจากจะต้องใช้สายตาจ้องมองกันทั้งวันแล้ว หลายคนยังพกพาจอไปจ้องต่อจนแม้กระทั่งเวลาเข้านอน ซึ่งเป็นนิสัยที่ก่อปัญหากับระบบของร่างกายไม่น้อยเลย

นักประสาทวิทยารู้กันมาสักพักแล้วว่า การจ้องมองจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นจอโทรทัศน์หรืออุปกรณ์พกพาอื่นๆ ในช่วงเย็นย่ำค่ำมืดส่งผลกระทบต่อการนอนด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะแสงจากจอภาพ โดยเฉพาะแสงสีฟ้าที่มีพลังงานสูง จะไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) จากต่อมไพเนียล (pineal gland) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เรานอนหลับสบาย โดยจะเริ่มหลั่งสองสามชั่วโมงก่อนที่เราจะเข้านอน

แต่ผลกระทบดังกล่าวนี้ในแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ผลการวิจัยพบว่าเห็นผลในเด็กวัยรุ่นชัดเจนกว่าในนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ผลคือ จะตื่นมาอย่างไม่แจ่มใส

และหากทำเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติจนอาจนำไปสู่โรคอ้วนหรือโรคเบาหวานได้  ที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือในสัตว์ทดลองที่มีการรบกวนการนอนซ้ำๆ เป็นประจำ พบความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น อีกด้วย

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มเสี่ยงสำคัญกลุ่มหนึ่งคือ พวกวัยรุ่นที่ติดเกม  ในการศึกษาปีที่แล้วที่เรียกว่า The GoWell East Study of Physical Activity ซึ่งทำในเด็กระดับมัธยมศึกษาในเมืองกลาสโกว์ พบว่า  เด็กๆ เหล่านี้ถึง 17% (1 ใน 6) ที่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นเกม และยังมีอีกจำนวนเท่าๆ กัน (16%) ที่แม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ยังใช้เวลาออนไลน์ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง

ที่น่าเป็นห่วงเพราะ ไม่เพียงแต่ผลกระทบเรื่องตาจาก CVS ข้างต้น แต่ยังมีโอกาสได้รับผลกระทบทางกายภาพเช่น การปวดหลัง ปวดไหล่ เส้นเอ็น และข้อหรือนิ้วต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วชี้หรือนิ้วโป้ง มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

อาการเหล่านี้พบได้มากในคนที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น พวกออกแบบต่างๆ ปัญหาเหล่านี้เป็นผลรวมจากการนั่งไม่ถูกท่า มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเป็นเวลานานๆ ร่วมกับขนาดจอที่เล็กเกินไปในบางกรณี บางครั้งหากเป็นแท็บเล็ต ก็อาจเป็นผลมาจากน้ำหนักอุปกรณ์ที่มากเกินไปเมื่อต้องถืออ่าน

 คำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำงานหน้าจอนานๆ ก็คือ ให้หยุดพักเปลี่ยนอิริยาบถและยืดหรือคลายเส้นบ้างเป็นระยะๆ รวมทั้งคนทั่วไปก็อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ไม่ให้กระวนกระวายหรือ "ติด" กับการตามข้อมูลข่าวสารแบบทันทีทุกที่ทุกเวลามากเกินไป

ดังที่มีงานวิจัยพบว่าจากการสำรวจคนราวๆ 2,000 คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี พบว่าแต่ละคนยกมือถือขึ้นมาเช็คบ่อยถึง 32 ครั้งต่อวัน (เฉลี่ย 2 ครั้งต่อทุกๆ ชั่วโมงที่ยังตื่นอยู่) และอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (43%) ก็ยอมรับว่า หากไม่สามารถเช็คอัพเดทดังกล่าวได้ ก็จะรู้สึกกระวนกระวายใจ

ในอนาคตอาจจะมีเครื่องมือหรือวิธีการดีๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ระหว่างนี้ก็คงต้องระวังตัวเอง และทำตามข้อควรระวังที่ว่าไปแล้วกันไปพลางๆ ก่อนครับ