‘ปชป.’ จี้มหาดไทยปลดล็อคให้อปท.ดีลตรงผู้ผลิตซื้อวัคซีน

‘ปชป.’ จี้มหาดไทยปลดล็อคให้อปท.ดีลตรงผู้ผลิตซื้อวัคซีน

‘ปชป.’ จี้มหาดไทยปลดล็อคให้อปท.ดีลตรงผู้ผลิตซื้อวัคซีน ชี้แบ่งเบาภาระภาครัฐ ตามหลักการกระจายอำนาจ แนะศธ. เร่งฉีดครู ออกใบรับรองสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนและผู้ปกครอง

นายชัยชนะ เดชเดโช  ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด - 19 ว่า ขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้มีมติให้นำงบประมาณส่วนใหญ่ไปช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด - 19 เช่น การจัดหาถุงยังชีพ ที่ได้รับผลกระทบในเขตพื้นที่ ซื้อหน้ากากอยามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ รวมทั้ง การกันงบเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ ยังมีอุปสรรคก็คือ ความไม่ชัดเจนของท่าทีของภาครัฐ

 

เนื่องจากทางกระทรวงมหาดไทย ได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ยังไม่สามารถให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อจัดหาวัคซีนฯ โดยตรงกับผู้ผลิต โดยอ้างว่า เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและป้องกันเหตุที่ไม่พึงประสงค์  แต่ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับทางสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ระบุว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนฯ นั้น จะต้องคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงทางด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522  เป็นต้น

 

ดังนั้นตนจึงอยากให้ทางกระทรวงมหาดไทย ตัดสินใจปลดล็อคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิ์ที่จะจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด - 19 ได้โดยตรงจากผู้ผลิต เพราะจะสามารถแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ถึงตัวของประชาชน รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัสดังกล่าวได้

“ผมเชื่อว่าขณะนี้งบประมาณของ อปท. ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ต่างจัดสรรให้กับการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด - 19 เป็นจำนวนมาก ทั้งการ จัดหาถุงยังชีพ จัดซื้อหน้ากากอนามัยแจกให้กับประชาชน รวมทั้ง การอนุมัติงบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสฯ เพื่อฉีดให้กับประชาชน แต่เนื่องจาก ยังมีข้อถกเถียงถึงการจัดซื้อจัดหาระหว่าง อปท. และบริษัทผู้ผลิต ว่า มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลาใด”

 

โดยตนเห็นว่า สิ่งที่ผมเคยเสนอไปแล้วว่า ให้มีคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยขอให้มีหมอที่ทำงานในท้องถิ่นนั้นๆ เข้ามาตรวจสอบคุณภาพวัคซีนก่อนที่จะฉีดให้กับประชาชนนั้น ถือเป็นข้อยืนยันว่า ท้องถิ่นมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพียงแต่ข้อให้ทางกระทรวงมหาดไทย ปลดล็อคคำสั่งที่ยืนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ อปท. ในการป้องกันโรคระบาด ตามหลักการกระจายอำนาจด้วย

นายชัยชนะ ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด - 19 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า การแก้ปัญหาของทางกระทรวงศึกษาธิการทำได้แค่เพียงการเลื่อนเปิดเทอมไปเรื่อยๆ โดยที่ครูและผู้ปกครองต่างไม่มีความมั่นใจซึ่งกันและกันในการส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องไปยังทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนฯ ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดของกระทรวงฯ ก่อนที่จะมีการเปิดเทอมใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและเด็กนักเรียนในการไปโรงเรียนด้วย เพราะถ้าหากเลื่อนเปิดเทอมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีมาตรการรองรับแล้ว จะส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาโดยรวม

 

“เนื่องจากครูเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะต้องพบปะทั้งเด็กและผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อไวรัสฯ ได้ง่าย แต่ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มีการกระตือรือร้นเท่าที่ควรในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ดังนั้น ผมจึงอยากให้ทางกระทรวงฯ เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับครูทั่วประเทศที่มีกว่า 6 แสนคน โดยเร็วที่สุด และขอให้มีการออกใบรับรองในการฉีดวัคซีนให้กับครู เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับสังคมโดยส่วนรวมด้วย”