BTS & BEM ครึ่งหลัง คืนฟอร์ม ‘บลูชิพ’ !

BTS & BEM ครึ่งหลัง คืนฟอร์ม ‘บลูชิพ’ !

จำนวนผู้ใช้บริการลดลง ! ปัญหาถาโถมทำสะดุดช่วงสั้น กดดัน 'เสน่ห์' ความสวย BTS & BEM ทว่าวันนี้กำลังกลับคลายมนต์ขลัง ลุ้นอดีตหุ้นสวยจะกลับมาโดนใจอีกครั้งปีหน้า หลังการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย...'เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์' ถกอนาคตฟื้นตัวโดดเด่นเช่นเดิม !

หากเอ่ยถึง 'หุ้นปลอดภัย' (Defensive Stock) ของนักลงทุน หนึ่งในนั้นต้องมี บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ของ 'คีรี กาญจนพาสน์' ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 19.45% และ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ของ 'ปลิว ตรีวิศวเวทย์' ถือหุ้นผ่าน บมจ. ช.การช่าง หรือ CK สัดส่วน 31.32% โดยหุ้นทั้งสองเป็นหุ้นขาประจำที่ต้องติดอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของบรรดานักลงทุน ผู้พิสมัยการลงทุนด้วยกลยุทธ์หุ้น 'พื้นฐานดี' (Blue-chip) เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นหุ้นที่เป็นธุรกิจระบบขนส่งมวลชนที่ 'สตอรี่' การเติบโตจากจำนวนผู้ใช้บริการและสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ  

ทว่า พักหลังสถานการณ์หุ้น BTS และ BEM กลับไม่เป็นเช่นนั้น จากทิศทางของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) นับตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ทำให้ตัวเลขปริมาณการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนทั้ง 'ถนน' และ 'ระบบราง' ลดลง ! เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ (Lock down) และขอความร่วมมือในการทำงานที่บ้าน (Work Form Home) ของภาครัฐเพื่อหยุดยั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 

สะท้อนจาก 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (มาร์เก็ตแคป) ของ 'หุ้น BTS' ปรับตัว 'ลดลง' จากในอดีต จากในอดีต โดยปี 2562 อยู่ที่ 173,636.46 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 122,397.20 ล้านบาท และปัจจุบัน (25 พ.ค.2564) อยู่ที่ 113,861.52 ล้านบาท

ส่วน 'หุ้น BEM' ปรับตัวลดลง จากในอดีต โดยปี 2562 อยู่ที่ 166,606.50 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 126,865.50 ล้านบาท และปัจจุบัน (25 พ.ค.2564) อยู่ที่ 116,166.00 ล้านบาท 

ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (2562-2563) 'กำไรสุทธิ-รายได้' ลดลงต่อเนื่อง โดย BTS (งบปี (1เม.ย.-30ก.ย.) มีกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 2,872.95 ล้านบาท และ 8,161.75 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2564 (ต.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 2,894.28 ล้านบาท ด้านรายได้ อยู่ที่ 48,618.31 ล้านบาท 38,680.65 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 30,404.63 ล้านบาท

ส่วน BEM มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,434.82 ล้านบาท และ 2,051.09 ล้านบาท ขณะที่ ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 305.34 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 20,221.19 ล้านบาท 14,316.16 ล้านบาท และ 3,184.96 ล้านบาท ตามลำดับ 

162220576081

สอดคล้องกับ 'เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์' นักลงทุนรายใหญ่ และหนึ่งในผู้ถือหุ้น BEM จำนวน 349,802,957 หุ้น คิดเป็น 2.29% เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะจบลงภายใน 2-3 เดือน หลังมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น และประชาชนก็จะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ดังนั้น คาดว่าธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานก็จะกลับมาปกติ หลังได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 จากการที่ประชาชนไม่ได้เดินทาง เนื่องจากผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน และโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม 

อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 คลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะกลับมาปกติ ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังธุรกิจทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าจะทยอยฟื้นตัว และกลับมาปกติปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมองว่าหุ้น BEM ราคายังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด (Laggard) แต่คาดว่าเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง-ฉีดวัคซีน ซึ่งกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นต้องลงทุนก่อนธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติ 

ทั้งนี้ 'เสี่ยยักษ์' บอกต่อว่า ส่วนตัวยังใช้กลยุทธ์ลงทุนในหุ้น BEM ในระยะยาว 3-5 ปี เพราะเป้าหมายส่วนตัวมองว่าเป็นหุ้นที่ลงทุนแล้ว 'สบายใจ !' ซื้อเก็บแล้วไม่ต้องเฝ้าดู เพราะธุรกิจเป็นสัมปทานภาครัฐในระยะยาว รวมทั้งอนาคตกำลังมีสัมปทานใหม่ที่จะเข้ามาสร้างการเติบโต หรือ เป็น S-Curve ที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย 

162220609755

เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี บอกว่า ผลดำเนินงาน BTS และ BEM แค่สะดุดช่วงสั้นเท่านั้นในฐานะที่เป็น 'ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน' จึงหนีไม่พ้นผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระลอกล่าสุด ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการจากปี 2564 ลง แต่คาดว่าธุรกิจจะทำสถิติกำไรสูงสุดใหม่ในปี 2565 ซึ่งเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดไว้ในปีนี้

โดยประเมิน BEM ธุรกิจได้รับผลกระทบจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน และจำนวนรถใช้ทางด่วนถูกกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ซึ่งเช่นเดียวกับปีที่แล้ว BEM หนีไม่พ้นผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าจะอยู่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานซึ่งถือเป็นธุรกิจประเภท defensive แล้ว 

ทั้งนี้ โควิด-19 ระบาดสองระลอกในปีนี้ คือช่วงต้นเดือนม.ค. และต้นเดือนเม.ย. ซึ่ง BEM จึงถูกกระทบไปด้วย โดยปริมาณรถใช้ทางด่วนในไตรมาส 1 ปี 64 ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินลดลงถึง 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น จึงคาดว่าการระบาดรอบใหม่ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 64 อย่างแน่นอน 

จากข้อมูลของทาง BEM ปริมาณรถใช้ทางด่วนลดลง 25% และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินลดลง 46% โดยเชื่อว่าตัวเลขทั้งสองตัวมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในเดือนพ.ค. และอาจจะยาวต่อไปถึงเดือนมิ.ย. ด้วย เนื่องจากจากยังมีการใช้นโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน และยังคงปิดโรงเรียนต่อไป

ดังนั้น ปรับลดประมาณการกำไร BEM จากปี 2564 ลงเฉลี่ย 25% เพื่อสะท้อนถึงปริมาณรถใช้ทางด่วน และผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ต่ำกว่าที่คาดไว้จากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในระลอกล่าสุดที่เริ่มระบาดในต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ใช้สมมติฐานว่าปริมาณการจราจรในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2% จากปีก่อน จากเดิม 25% ซึ่งจะทำให้รายได้ปีนี้ต่ำกว่ารายได้ปี 2562 อยู่ 15% แต่คาดว่ารายได้จะกลับไปที่ระดับของปี 2562 ได้ในปี 2565 เมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้น และประชาชนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ และโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง 

'ตามประมาณการใหม่คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2564 จะใกล้เคียงกับในไตรมาส 1 ปี 2564 ก่อนที่จะเริ่มกลับมาโตใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป'

ธุรกิจ BEM-BTS ! 

สำหรับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ในปี 2558 โดยบริษัทประกอบธุรกิจหลัก 4 ด้านด้วยกัน 

1.ธุรกิจทางพิเศษ (ทางด่วน) บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริหารทางพิเศษรวม 4 สาย ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช (หมดสัมปทาน 2563) ทางพิเศษศรีรัชส่วนดี (หมดสัมปทาน 2570) ทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (หมดสัมปทาน 2585) ทางพิเศษอุดรรัถยา ดำเนินการผ่านบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) (หมดสัมปทาน 2569) โดยสัญญาเป็นแบบ BTO คือบริษัทก่อสร้างและได้สิทธิ์ในการบริหาร แต่ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กทพ. ซึ่งส่วนในกรุงเทพ 9 ปีแรกจะแบ่งสัดส่วนบริษัทต่อกทพ. 60:40 ในขณะที่ 9 ปีสุดท้าย 40:60 ระยะเวลาตรงกลางแบ่ง 50:50 ส่วนพื้นที่นอกกรุงเทพ บริษัทจะได้ทั้งหมด ซึ่งปรับค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี 

2. ธุรกิจระบบราง (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง–บางซื่อ) (สายสีน้ำเงิน) (หมดสัมปทาน 2567) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (คลองบางไผ่–เตาปูน) (สายสีม่วง) (หมดสัมปทาน 2586) ลักษณะสัญญาจะเป็นแบบ ATO สายสีน้ำเงินเป็นแบบ PPP net cost คือบริษัทลงทุนเงินเอง และจะได้สัมปทานในรถไฟฟ้าตลอดอายุเวลา 25 ปี ระหว่างระยะเวลาต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ รฟม. ตามกำหนด ในขณะที่สายสีม่วงเป็นแบบ PPP gross cost คือ รฟม. ลงทุนเงินเอง สินทรัพย์เป็นของรฟม. แต่บริษัทจะได้รับสิทธิ์ในการบริหารรถไฟฟ้าเส้นดังกล่าวตลอดอายุเวลา 30 ปี 

3.ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ บริษัททำธุรกิจผ่านบริษัทย่อย BMN (ถือหุ้น 65.19% ยังไม่หักส่วนที่จะขายให้ PLANB) ซึ่งครอบคลุม 1 ธุรกิจสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้าและสถานี 2 ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและที่จอดรถลาดพร้าว 3 ธุรกิจดูแลรักษาอุปกรณ์สื่อสารในสถานี 

และ 4.ลงทุนในบริษัทอื่น บริษัทถือหุ้นลงทุนในบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1 บริษัท CKP (ถือหุ้น 19.40%) เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 2 บริษัท TTW (ถือหุ้น 19.45%) เกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา 3 บริษัท XPCL (ถือหุ้น 7.5%) ผู้ก่อสร้างและดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 

ขณะที่ 'ธุรกิจ BTS' แบ่งออกเป็น 1 ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน เป็นธุรกิจหลักของบริษัทโดยทำธุรกิจผ่านบริษัทย่อยชื่อ BTSC (ถือหุ้น 97.46%) ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าจากกทม.ตั้งแต่ปี 2535 ทั้งสายสุขุมวิทและสีลม รวม 23.5 กิโลเมตร และจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2572 (สัมปทาน 30 ปี เริ่มให้บริการครั้งแรกปี 2542) โดยในปี 2556 บริษัทได้ขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิจากรถไฟฟ้าสายหลักนี้ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงสิ้นสุดปีสัมปทานให้กับกองทุน BTSGIF โดยบริษัทยังคงถือหุ้นอยู่ 33.33% ในกองทุนนี้ 

ในปี 2555 บริษัทได้เข้าเซ็นสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายสีลม 1 (สะพานตากสิน–วงเวียนใหญ่) ส่วนต่อขยายสีลม 2 (วงเวียนใหญ่–บางหว้า) และสายรถไฟฟ้าเดินหลังหมดสัมปทานชุดเก่าจนถึงปี 2585 นอกจากนี้ ในปี 2559 BTS ยังร่วมกับ STEC และ RATCH จัดตั้งกิจการร่วมค้า BSR และชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) รวมไปถึงส่วนต่อขยายอีกด้วย 

2.ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจสื่อโฆษณาของ BTS ดำเนินโดยบริษัท VGI (BTS ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 70.62%) โดยทำธุรกิจสื่อนอกบ้านครอบคลุมพื้นที่ 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ สื่อในระบบขนส่งมวลชน สื่อกลางแจ้ง (ผ่าน MACO) สื่อในอาคารสำนักงาน (ผ่าน POV) สื่อในสนามบิน (ผ่าน aero media group) และการสาธิตสินค้า (ผ่าน demo power) และธุรกิจสื่อดิจิตัลผ่าน Rabbit Group

3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และที่ดิน 

และ 4. ธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจสนับสนุนธุรกิจหลักในส่วนอื่น เช่น ธุรกิจ e-money ธุรกิจบัตรเงินสด ธุรกิจนายหน้าประกันภัย