“สภาพัฒน์”ชง6ข้อดึงลงทุน สอท.ห่วง“อีอีซี”ไร้แรงหนุน

“สภาพัฒน์”ชง6ข้อดึงลงทุน สอท.ห่วง“อีอีซี”ไร้แรงหนุน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5 - 2.5% และค่อยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากติดลบ 6.1% ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณ การค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ

การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 รวมถึงการลงทุนที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อรองรับหลังโควิด-19 ดีขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หนึ่งในเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในเมืองไทยในปี 2564 คือการลงทุน โดยนอกจากการลงทุนของภาครัฐที่จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการเดินหน้าโครงการต่างๆที่เป็นการลงทุนของรัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการลงทุนของภาคเอกชนซึี่ง สศช.ได้เสนอเป็นหนึ่งเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลในปีนี้

ข้อเสนอของ สศช.ในเรื่องการผลักดันการลงทุนเอกชนประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญมี 6 ข้อ ได้แก่ 1. การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ 

2.การแก้ไขปัญหา ที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนและดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากทั้งภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศ เช่น ข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำงานและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่

3.การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 

162220380639

4.การส่งเสริมการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น 5.การให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน 

6.การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญ เพื่อยกระดับศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับการลงทุนของภาครัฐ สศช.ได้เสนอให้ใช้เป็นการรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่น้อยกว่า 92.5% แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 98%  และงบลงทุน70%  ส่วนงบเหลื่อมปี ไม่น้อยกว่า 85% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ให้ไม่น้อยกว่า 70% และแผนงานและโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้มีการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินกู้ฯ

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกด้าน ทั้งระบบรางรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ การวางระบบรถไฟฟ้าในหัวเมืองขนาดใหญ่ รถไฟทางคู่ ที่ขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศช่วยลดเวลาการเดินทางลงได้มาก รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเปิดประมูลระบบ 5จี โดยเฉพาะใน EEC ที่จะครอบคลุมทั้งหมดเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอนาคตที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิตมากขึ้น

ส่วนของนโยบายยกระดับเศรษฐกิจที่เด่นชัดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา คือ โครงการ EEC ที่เป็นการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจเฉพาะสำหรับ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งได้ทุ่มงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รถไฟคามเร็วสูง ขยายท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง สร้างสนามบินอู่ตะเภาเพื่อขยายไปสู่การเป็นเมืองการบิน ตลอดจนนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ 

ทั้งนี้ ถือได้ว่าไทยมีนโยบายที่ชัดเจนที่สุดในภูมิภาคนี้ รวมทั้งนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทั้งหมดนี้จะยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในอนาคต เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อีกมาก

รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลผลักดันโครงการ EEC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ได้เงียบไปมาก หากโครงการนี้ได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว รวมทั้งเป็นแม่แบบในการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ที่สำคัญจะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังให้กับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และแก้ไขกฎระเบียบ และอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในทุกด้าน 

รวมทั้งเดินหน้าจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศขยายใหญ่ เช่น ยุโรป และอินเดีย ก็จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญทำให้เอกชนไทยมีศกัยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และที่สำคัญจะต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการกระจายรายได้ให้มากขึ้น