การทางพิเศษฯ ชงสร้างด่วนชั้น 2 ลดการจราจรแออัด

การทางพิเศษฯ ชงสร้างด่วนชั้น 2 ลดการจราจรแออัด

การทางพิเศษฯ ลุยศึกษาทางด่วนชั้นที่ 2 และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา หวังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน “ศักดิ์สยาม” จี้รายงานผลการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน มิ.ย.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มีนโยบายสั่งการไปยังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นของสภาพปัญหาการจราจรและแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ โดยพบว่ามี 5 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก ปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษที่เชื่อมต่อกับถนนพื้นราบ

โดย กทพ.ได้มีการรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในเบื้องต้น เช่น บริเวณที่มีข้อจำกัดไม่สามารถขยายพื้นผิวจราจรได้ อาจจำเป็นต้องก่อสร้างทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 โดยเฉพาะบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-อโศก รวมถึงก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาความจุของทางพิเศษบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัชทั้งระบบ

“ตอนนี้ได้สั่งการให้ กทพ. ไปลงรายละเอียดในการจัดกลุ่มของปัญหาจราจรบนทางพิเศษ และควรแบ่งการดำเนินงานเป็นแพ็คเกจ จัดลำดับความสำคัญประกอบกับการจัดทำแผนการดำเนินงานและแหล่งเงินที่จะนำมาลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งการลงทุนต้องเกิดความคุ้มค่าและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ”

  162218860316

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า กทพ.ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่บนทางด่วนที่ไม่สามารถขยายผิวจราจร มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ กทพ.ก็เคยมีการศึกษาโครงการลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้เริ่มดำเนินการศึกษาส่วนของความคุ้มค่าในการลงทุน เปรียบเทียบแนวทางและข้อดีข้อเสียของการพัฒนาทางด่วนชั้นที่ 2 รวมไปถึงการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา นำเสนอไปยังกระทรวงฯ ภายในเดือน มิ.ย.นี้

162218858491

“เดือน มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานน หากมีการเห็นชอบผลการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-อโศก และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะถือเป็นอีกหนึ่งโครงการใหม่ที่การทางพิเศษฯ ต้องเริ่มศึกษาความเหมาะสม”

ทั้งนี้ กทพ.ได้ประเมินกรอบระยะเวลาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด่วนชั้นที่ 2 และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะใช้เวลาราว 1 ปีแล้วเสร็จ หากเป็นนโยบายเร่งด่วนจากทางรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดก็มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการลงทุนทันที