ค้าปลีกลุย‘ดิจิทัลแฟคตอริ่ง’ดึงแบงก์หนุนซอฟท์โลน

ค้าปลีกลุย‘ดิจิทัลแฟคตอริ่ง’ดึงแบงก์หนุนซอฟท์โลน

นับเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนภายใต้ “สภาพคล่อง” ของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี ที่ลดน้อยถอยลงทุกขณะท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงลุกลามในวงกว้าง     

อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมูลค่า 4 ล้านล้านบาทบนซัพพลายเชนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงผู้ประกอบการค้าหลากหลายมิติ โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี หนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย! ที่เวลานี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมหันตภัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับจากปี 2563 ลากยาวนานกว่า 1 ปี ทำให้การทำมาค้าขายสะดุดเป็นระยะยิ่งเมื่อเกิดคลื่นการระบาดระลอกใหม่ขณะนี้รุนแรงกว่า 2 ครั้งแรกจากปริมาณผู้ติดเชื้อจำนวนมากและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ขณะที่แผลเก่ายังไม่ทันได้เยียวยา! ยิ่งกลุ่มทุนน้อยสายป่านสั้นต่างตั้งตารอมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อต่อสัญญาณชีพ นับเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเช่นกันภายใต้ “สภาพคล่อง” ที่คาดว่าจะดำเนินกิจการไปได้อีกเพียง 3-6 เดือนข้างหน้าเท่านั้น    

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย วางแนวทางสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการค้ารายย่อย เอสเอ็มอี หรือคู่ค้าพันธมิตรของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ ผ่าน ดิจิทัล แฟคตอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Factoring Platform) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

"ในสภาวะวิกฤติ โควิด-19 ที่เอสเอ็มอี และผู้ค้ารายย่อยทั่วประเทศ ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เราได้มีการหารือสมาชิกสมาคมและภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ หรือ คิดเป็น 12% ของจีดีพี" 

โดยจะร่วมกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในเฟสแรก ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ  รวมทั้ง ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “ดิจิทัล แฟคตอริ่ง”  

สำหรับ “แฟคตอริ่ง” หรือ การรับซื้อหนี้การค้าเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่สามารถเปลี่ยนบิล หรือเอกสารทางการค้า เช่น ใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ ใบวางบิล หรือใบตรวจรับพัสดุ ที่มีอยู่ในมือ ให้เป็นเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียน นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสด โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ ซึ่งในแพลตฟอร์มนี้ ค้าปลีกรายใหญ่” จะทำหน้าที่เสมือนหลักค้ำประกันให้กับผู้ค้ารายย่อยของตน ซึ่งมีข้อมูลทางการค้าร่วมกันอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้  สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เริ่มโครงการ “แซนด์บ็อกซ์”  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นทรัล รีเทล (CRC) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจระหว่างบริษัท และซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 ราย ของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ผ่านแพลตฟอร์ม ดิจิทัล แฟคตอริ่ง” และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับเอสเอ็มอีกว่า  1,000 ราย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท 

กว่า 70% ของเอสเอ็มอีเหล่านี้ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือซอฟท์โลนมาก่อน แพลตฟอร์มนี้ทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีสามารถชำระหนี้แบบอัตโนมัติผ่านช่องทางดิจิทัล เพราะฉะนั้น ธนาคาร จึงสามารถเสนอสินเชื่อวงเงินที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้” 

ความสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นโรลโมเดล และเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะนำต้นแบบนี้ขยายไปสู่ เอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 100,000 รายของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีเครือข่ายภายในสิ้นปี 2564 

ในเฟสต่อไป จะขยายผลไปถึงสมาชิกของทุกๆ “สมาคมการค้า” ไม่ว่าจะ สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอีไทย เสริมสภาพคล่อง สามารถพลิกฟื้นกิจการ เพิ่มแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

การผนึกกำลังสำคัญของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง! ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ทั่วถึง  รวดเร็วแข่งกับวิกฤติการณ์ และสุดท้ายต้องรอด!