อพท.ดัน‘โคราชจีโอพาร์ค’ ดินแดน3มงกุฎมรดกโลก

อพท.ดัน‘โคราชจีโอพาร์ค’  ดินแดน3มงกุฎมรดกโลก

อพท. ผนึก 7 องค์กรร่วมพัฒนา “โคราชจีโอพาร์ค” ขึ้นทะเบียน “ยูเนสโก” สร้างกิจกรรม-วางเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชื่อมมรดกโลก พร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาโคราชระยะ 5 ปี ดันแหล่งโบราณคดีทางธรณีวิทยา สร้างแลนด์มาร์กดินแดนแห่ง 3 มงกุฎมรดกโลก

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ สมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานธรณีโคราช หรือ “โคราชจีโอพาร์ค” สู่การเป็นอุทยานธรณีโลก ตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ผลักดันจังหวัดนครราชสีมา บรรลุเป้าหมายการเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก หรือ “TheUNESCO Triple Crown” ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดนครราชสีมาที่จะทำให้โคราชจีโอพาร์คเป็นแหล่งโบราณคดีทางธรณีวิทยาระดับโลก

“ที่ผ่านมายูเนสโกได้ให้การรับรองแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อ.วังน้ำเขียว ที่จะผลักดันต่อไปก็คืออุทยานธรณีโคราชตามการดำเนินงาน 3 โปรแกรมของยูเนสโกเพื่อก้าวสู่ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก”

จึงมอบให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท. 2) ซึ่งดูแลและพัฒนาพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้กับจังหวัดนครราชสีมา อพท.ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราชไปสู่การสร้างคุณค่าระดับโลก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชุมชนมีส่วนร่วมเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักแบบยั่งยืนที่เป็นศูนย์กลางรองรับนักท่องเที่ยวทุกระดับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและนานาชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในปี 2564 อพท.2 จะเข้าไปต่อยอดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ในพื้นที่ชุมชนท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ และชุมชนมะค่า อ.เมือง นครราชสีมา โดยจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และกิจกรรมด้านต่างๆ ให้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวหลัก นอกจากนั้นยังจัดทำป้ายสื่อความหมาย จุดถ่ายภาพในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน การพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน โดยคงรักษาอัตลักษณ์และมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่สามารถร้อยเรียงเป็นจุดขายที่สำคัญของชุมชน

ปีที่ผ่านมา อพท. นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในเส้นทางโคราชจีโอพาร์ค จัดทำแผนการบริหารจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หน่วยงานในพื้นที่ และอุทยานธรณีโคราช เพื่อให้การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับโคราชจีโอพาร์ค

กรอบความร่วมมือครั้งนี้ดำเนินการระยะ 5 ปี มีขอบเขต 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ร่วมกันอนุรักษ์ ศึกษา สำรวจแหล่งทรัพยากรธรณีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม 2.ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการพัฒนาและการดำเนินการให้อุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น 3.ร่วมกันจัดกิจกรรมและการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียนประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติภายในอุทยานธรณีโคราช 4.ร่วมกันจัดกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การบริหารเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงชุมชน และจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงพื้นที่อุทยานธรณีดังกล่าวในวงกว้าง และ 5.ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวในอุทยานธรณีโคราชให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ความโดดเด่นของจีโอพาร์ค โคราช เป็นแหล่งโบราณคดีทางธรณีวิทยา เพราะค้นพบแหล่งฟอสซิลขนาดใหญ่ไม่ว่าช้างดึกดำบรรพ์ หนูโบราณ จระเข้โบราณ ไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหิน การนำพื้นที่ดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจะนำไปสู่การสร้างการรับรู้และยกระดับจังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติต่อไป