ภรรยารมว.ยุติธรรมรอดคดีฝายแม้ว-ป.ป.ช.ชี้หลักฐานไม่มั่นคง

ภรรยารมว.ยุติธรรมรอดคดีฝายแม้ว-ป.ป.ช.ชี้หลักฐานไม่มั่นคง

‘อนงค์วรรณ’ ภรรยา รมว.ยุติธรรม รอดคดีฝายแม้ว ป.ป.ช.ลงมติ 6 ต่อ 3 ชี้พยานหลักฐานไม่มั่นคง ปิดมหากาพย์ 13 ปี

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาข้อกล่าวหา นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก ทุจริตโครงการฝายแม้ว 770 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่หลายราย โดยเป็นระดับผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ลงมา มีทั้งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

 

ขณะที่นางอนงค์วรรณซึ่งถูกกล่าวหาว่ากำกับดูแลการดำเนินการโครงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ มีการแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณให้แต่ละฝายไม่เท่ากัน รวมถึงมีการหักหัวคิวนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานน้อย และพยานหลักฐานไม่มั่นคง จึงไม่สามารถเอาผิดได้ จึงมีมติ 6 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2551 ต่อมามีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหานางอนงค์วรรณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและแวดล้อม กับพวกกระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตโลกร้อน วงเงินงบประมาณของปี 2551 จำนวน 770 ล้านบาท กรณีการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน และการเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก (ฝายแม้ว) โดยมิชอบ และหักเงินโครงการดังกล่าวเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเอกสารหลักฐานและสำนวนการสอบสวนคดีนี้ที่มีอยู่กว่าแสนแผ่น อีกทั้งได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวกว่า 500 ปาก โดยมีเจ้าหน้าที่กว่า 400 ปาก ที่แจ้งความประสงค์ระหว่างให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.ขอให้กันเป็นพยาน กระทั่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 27 พฤษภาคม

 

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวใช้เวลาใช้เวลายาวนานถึง 13 ปี ถือเป็นคดีมหากาพย์อีกคดีหนึ่งของ ป.ป.ช.