หมออินเดีย ‘คาใจ’ แผนแจก ‘ยาสมุนไพรสูตรกูรูโยคะ’ รักษาโควิด

หมออินเดีย ‘คาใจ’ แผนแจก ‘ยาสมุนไพรสูตรกูรูโยคะ’ รักษาโควิด

แพทย์อินเดียประณามแผนการรัฐหรยาณา แจกจ่ายยาสมุนไพรที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ขณะกูรูโยคะเจ้าของสูตรถูกวิจารณ์หนักหลังแสดงความเห็นว่า ยาสมัยใหม่ทำให้เสียชีวิต

ตามที่รัฐหรยาณาทางตอนเหนือของอินเดีย ที่บริหารโดยพรรคภราติยะชนตะ (บีเจพี) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะส่งยาโคโรนิลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 โคโรนิลเป็นยาตำรับอายุรเวท ที่บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค “ปตัญชลี อายุรเวท” ของกูรูโยคะ “บาบา รามเทพ” เปิดตัวเมื่อปีก่อนโดยประโคมว่ารักษาโควิด-19 ได้

ต่อมารัฐบาลประกาศว่า บริษัทปตัญชลี อายุรเวท ไม่สามารถทำตลาดยาตัวนี้ในฐานะยารักษาโรคได้ ต้องขายเป็นตัวเสริมภูมิคุ้มกัน

ล่าสุด นายเอเจย์ คัณณา เลขาธิการสมาคมแพทย์อินเดีย (ไอเอ็มเอ) ประจำรัฐอุตรขัณฑ์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทปตัญชลี กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุยาโคโรนิลใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ “ถ้ารัฐบาลรัฐหรยาณาทำแบบนี้จะมีแต่ความสูญเสีย” นายคัณณากล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอสำนักงานอุตรขัณฑ์ได้ยื่นฟ้องกูรูรามเทพ ให้เขาเขียนคำขอโทษจากที่ได้แสดงความเห็นไปล่าสุดว่า การรักษาตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นเหตุให้ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตหลายแสนคน ส่งผลให้แพทย์ทั่วอินเดียพากันประณาม จนกูรูรามเทพต้องเพิกถอนคำพูดเมื่อวันอาทิตย์ (23 พ.ค.)

“เขาไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านักธุรกิจที่ดีแต่ขายของ เขาทำให้การแพทย์แบบอัลโลพาธีกับอายุเรเวทต้องปะทะกัน” นายคัณณาย้ำ 

อายุรเวทคือ ระบบอินเดียโบราณ หมายรวมถึงการแพทย์ การทำสมาธิ ออกกำลังกาย และตำรับอาหารที่มีผู้ปฏิบัติตามหลายล้านคน

เสียงประณามยาสมุนไพรและความเห็นของกูรู เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากแพทย์อินเดียเตือนเรื่องการพอกมูลโคบนร่างกายเพื่อปัดเป่าโควิด ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประสิทธิภาพ ทั้งยังเสี่ยงแพร่เชื้อโรคอื่นๆ ด้วย

ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข อินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 27.16 ล้านคน เสียชีวิต 311,388 คน การระบาดระลอกสองสร้างความเสียหายให้กับหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ประชาชนจำนวนมากก็นิยมยาแผนโบราณ ส่วนหนึี่งเป็นเพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม แพทย์เตือนถึงอันตรายที่ประชาชนไว้ใจการรักษาโควิดแบบทางเลือก

“คุณการ์ดตกเพราะคิดว่าได้รับการปกป้องแล้ว แต่ผมคิดว่าการปล่อยให้คนเข้าใจผิดว่าปลอดภัยแล้วนั่นแหละคืออันตรายที่แท้จริง” นายแลนซ์ลอต พินโต อายุรแพทย์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลฮินดูชาในมุมไบให้ความเห็น