เดินหน้า‘ปฏิรูปตำรวจ’นอกสภา   ตร.ยกเครื่องระบบ-โครงสร้าง

เดินหน้า‘ปฏิรูปตำรวจ’นอกสภา   ตร.ยกเครื่องระบบ-โครงสร้าง

ผบ.ตร. ได้วางรากฐานและโครงสร้างทั้งหมด เป้าหมายเพื่อให้ตำรวจเป็นมืออาชีพ เป็นที่พึ่ง และยอมรับของประชาชน เพื่อยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปตำรวจ” 

 เหตุผลหนึ่งของการทำรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 นอกจากต้องการหยุดยั้งความขัดแย้งรุนแรงในสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว อีกเป้าหมายคือการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นข้อเรียกร้องสำคัญในการชุมนุมของประชาชนขณะนั้น 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านปีที่ 7 ของการรัฐประหารร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี แต่กระบวนการกลับยังค้างอยู่ในสภาฯ โดยหลังผ่านวาระ 1 ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการร่วมรัฐสภา

ความล่าช้าของกระบวนการนิติบัญญัติ ท่ามกลางเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าจากฝ่ายบริหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ย่อมถูกกดดันเช่นกัน ล่าสุดภายใต้ยุคของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนล่าสุด ได้ตัดสินใจเดินหน้ายกเครื่องการทำงานของตำรวจใหม่ทั้งระบบ เพราะตระหนักว่าโลกยุคใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นความท้าทายของ ตร.อย่างมาก

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายแนวทางของ ผบ.ตร.ว่า เน้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน การพัฒนาบุคลากร ทั้งยุทธวิธี การพัฒนาความรู้ ทัศนคติการทำงานในโลกยุคใหม่ รวมทั้งสวัสดิการ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีในทุกมิติ เพราะตระหนักแล้วว่าโลกยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงหลัง โควิด-19 เป็นเรื่องการก่ออาชญากรรมที่มีเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ รวมทั้งความรุนแรงของอาชญากรที่จะตอบโต้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการทำงานทั้งระบบเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องใช้ความต่อเนื่อง อาจยังไม่ได้เห็นผลทันตาภายใน 1-2 ปีนี้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง มิฉะนั้นในอนาคตอาจเป็นองค์กรที่ล้าหลัง ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการพัฒนาในระยะสั้น ที่กำลังเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โฆษก ตร.ยกตัวอย่างการพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ เพื่อให้การป้องกันอาชญากรรม รวมทั้งการติดตามจับกุมคนร้าย ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ และเห็นผลงานได้ในเวลาไม่นาน 

+ ขยายโครงการซีซีทีวี-ลดอาชญากรรม + 

หากนับจากวันที่ ผบ.ตร. เข้ามารับตำแหน่ง และประกาศนโยบายจะติดกล้องซีซีทีวีในพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่นำร่อง 5,000 ตัว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของ ตร. เพื่อเสริมการทำงานของตำรวจทั้งฝ่ายป้องกันปราบปราม และฝ่ายสืบสวน ทำให้การนำข้อมูลที่ได้จากกล้อง มาใช้ในการติดตามจับกุมคนร้ายมีประสิทธิภาพมากขี้น แม้ของเดิมจะมีอยู่แล้วหลายหมื่นตัวแต่ก็กระจัดกระจายในหลายหน่วยราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลของกล้องดังกล่าวต้องมีกระบวนการทางระบบราชการ ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจในการติดตามจับกุมคนร้ายลดลง

“ดังนั้นเราจึงมีโครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ตามโครงการของเราเอง การกำหนดจุดติดตั้ง ก็กำหนดโดยผู้ปฏิบัติงานจริงในสถานีตำรวจพื้นที่ ซึ่งสามารถตอบสนองการใช้งานของผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้จริง นอกจากนี้ การตรวจสอบการใช้งานได้ของกล้อง เราก็จะดำเนินการโดยผู้ปฏิบัติในพื้นที่เช่นกัน ซึ่งมีวงรอบการตรวจสอบประจำวัน ประจำสัปดาห์ เมื่อมีข้อผิดพลาด หรือกล้องเสีย ใช้การไม่ได้ ก็สามารถแจ้งผู้รับจ้าง มาดำเนินการเปลี่ยนกล้องตัวใหม่ได้ทันทีตามเงื่อนไขสัญญา”

ที่สำคัญโครงการนี้ ใช้งบประมาณดำเนินการค่อนข้างต่ำ แต่เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูง ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการทดลองปฏิบัติในเขต กทม. และได้ผลดี เริ่มต้นคิดเอาไว้แค่ 5,000 ตัว แต่เมื่อไปสำรวจจริง ความต้องการกลับเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 กว่าตัว ซึ่งขณะนี้เกือบครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว การจับคนร้ายในคดีสำคัญต่างๆ ก็มาจากกล้องตามโครงการนี้ ภาพความสำเร็จของการใช้กล้องฯ โครงการนี้ มีให้เห็นจากการนำไปใช้ในการควบคุมอาชญากรรม และภัยในเรื่องความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้มาแล้ว

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวอีกว่า ในอนาคตการขยายพื้นที่ดำเนินการ การเพิ่มจำนวน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของกล้อง เช่นการ ใส่ Ai เข้าไป การรวบรวมข้อมูลกล้องที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น และในที่สุดทุกพื้นที่ก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยท่าน ผบ.ตร. มีเป้าหมายสูงสุด ในเชิงเปรียบเปรยว่าหากสุภาพสตรี สามารถเดินในซอยเปลี่ยวในยามค่ำคืนได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องภัยอาชญากรรมในซอยเปลี่ยว นั่นก็คือเราได้ทำหน้าที่ดูแลความสงบสุข ความปลอดภัยให้กับสังคม ตามหน้าที่ของเราได้ครบถ้วนแล้ว 

+ พัฒนาไปสู่ Smart City + 

“แนวทางการทำงานของท่าน ผบ.ตร.ก็คือการทำจากเล็กๆ แล้วค่อย ๆ ขยับขยายพัฒนาไปตามกำลังที่เราทำได้ ซึ่งระหว่างทางของการพัฒนา เราก็ได้งาน ได้ผลงานไปด้วย ไม่ต้องรอให้จบเป็นโครงการใหญ่เต็มรูปแบบ และในวันนี้ท่าน ผบ.ตร. ก็มีแนวคิดว่าจะเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาไปสู่การเป็น Smart City ในมิติเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องการออกแบบเทคโนโลยี และการดำเนินการเรื่องงบประมาณสนับสนุน ซึ่งก็ได้เริ่มเดินหน้าโครงการดังกล่าวมาบ้างแล้ว และในเร็ววันนี้ ก็คงจะได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ทดลองบางพื้นที่ เพื่อในที่สุด จะกระจายลงไปใช้ในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศต่อไป” 

+เพิ่มศักยภาพกำลังพลทุกสายงาน + 

ทางด้านการเตรียมพัฒนากำลังพล ทั้งสายป้องกันปราบปราม สายสืบสวน และสายสอบสวน โฆษก ตร.เปิดเผยว่า กำลังดำเนินอย่างเข้มในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาความรู้ และการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการทำงานใหม่ (SOP) ที่เป็นระบบที่ได้ร้บการยอมรับตามมาตรฐานสากล 

“วันนี้ศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง ที่หนองสาหร่าย จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งศูนย์ฝึกตำรวจอีกหลายแห่ง เช่นที่ค่ายนเรศวร หัวหิน หรืออีกหลาย ๆ ที่ มีหลากหลายหลักสูตร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาฝึก ตามมาตรฐานหลักสูตรใหม่ที่ ผบ.ตร. ได้มอบหมายคณะทำงานแต่ละคณะ ได้ไปสำรวจ วิเคราะห์ วิจัย กันมา เพื่อให้ผู้รับการฝึกมีมาตรฐานการทำงานแบบใหม่ที่จะสามารถนำไปต่อกร กับภัยอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ ๆ ได้” 

+ พัฒนางานสอบสวน-ออนไลน์ลดขั้นตอน

ส่วนเรื่อง “งานสอบสวน” ซึ่งเป็นหัวใจของงานตำรวจ เนื่องจากเป็นต้นทางในกระบวนการยุติธรรม ในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการ เพื่อนำไปสู่การตัดสินลงโทษในที่สุด ผบ.ตร. ก็มีแนวทางการพัฒนางานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระงานเอกสารจำนวนมาก ลดขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งการตัดภาระงานที่ไม่จำเป็น หรือแบ่งเบาให้ลดลง ในทางกลับกัน ก็เป็นการแบ่งเบาภาระประชาชนที่มาติดต่อราชการทั้งที่เกี่ยวกับคดีและไม่เกี่ยวกับคดี ให้มีความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอที่สถานีตำรวจนาน ๆ 

งานบริการบางอย่าง เช่นการแจ้งเอกสารหาย ก็สามารถแจ้งความทางออนไลน์ได้ ซึ่งหลายพื้นที่ก็ได้นำไปใช้บ้างแล้ว และในอนาคตคงมีการผลักดันให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือการใช้ระบบนัดหมายออนไลน์กับพนักงานสอบสวน เพื่อมาแจ้งความในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เช่นในคดีเช็ค คดีฉ้อโกง ฯลฯ จะได้ไม่เสียเวลารอเข้าคิวให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน หรือแม้กระทั่งการส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานสอบสวนล่วงหน้า ก่อนเดินทางมาพบพนักงานสอบสวน ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาลดขั้นตอนการทำงาน และเป็นการเพิ่มคุณภาพการบริการ ให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการบนสถานีตำรวจ

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างในหลายๆ เรื่องที่ ผบตร. ได้วางรากฐาน เพื่อนำไปสู่โลกอนาคต และบังเอิญว่าโลกอนาคตที่คาดการณ์ไว้ มาเร็วขึ้นกว่าที่คิด จากตัวเร่งปฏิกริยาคือ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงวิถีของอาชญากรด้วย ดังนั้น ตำรวจเองก็คงต้องเร่งปรับตัวให้ตามทัน หรือมากไปกว่านั้น ต้องดักทางภัยอาชญากรรมในโลกยุคใหม่ให้ทัน

162190663593

+ แต่งตั้งโยกย้ายเกณฑ์ใหม่รัดกุม + 

ส่วนปัญหาที่สังคมพูดถึงกันมาก คือความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ และซื้อขายตำแหน่งนั้น พล.ต.ต.ยิ่งยศ ชี้แจงว่า ผบ.ตร. ได้วางรากฐานกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งให้รัดกุมมากขึ้น และมีการใช้เกณฑ์การวัดความรู้ความสามารถที่จับต้องได้ มาเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ความดีความชอบและการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งจะผลักดันให้เสร็จทันวาระแต่งตั้งเดือนตุลาคมนี้
 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารในระดับสถานีตำรวจทุกระดับ  ตั้งแต่สารวัตร จนถึงผู้กำกับการ จะต้องผ่านงานสอบสวนมาเป็นจำนวนปีที่กำหนด หรือต้องมีการสอบความรู้ด้านการสอบสวน เพราะถือว่างานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญในการวางแผนในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งงานสืบสวน นอกจากนั้น การพัฒนาความรู้ของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ การสอบวัดความรู้ ก็จะนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับข้าราชการตำรวจทุกสายงาน

ผบ.ตร.คาดหวังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ พัฒนาความรู้ในหน้างานของตัวเอง จนมีความมั่นใจในการทำงาน เป็นที่พึ่งทางกฎหมายให้กับประชาชน และทำงานแบบมืออาชีพได้อย่างแท้จริง

สำหรับการซื้อขายตำแหน่ง ยังไม่เคยปรากฎหลักฐานที่แท้จริง เพราะว่าทั้งคนให้ และคนรับ ต่างก็มีความผิด ถ้าหากว่ามีอยู่จริง ก็คงต้องจัดการในทางกฎหมายโดยเด็ดขาด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมภายนอกนินทากันมานาน แต่เรากำลังจะพิสูจน์ให้เห็นว่า หากนำระบบมาจับ การจริงจังในเรื่องหลักเกณฑ์มาเป็นข้อพิจารณา เรื่องไม่ดีที่สังคมไม่สบายใจก็คงลดลง

“ผบ.ตร. เคยพูดในหลาย ๆ ที่ ว่าการทำให้สังคมเลิกนินทา ผลของการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปแก้ตัว”

+ เร่งช่วยสวัสดิการที่อยู่อาศัย-แก้หนี้สิน + 

ส่วนการดูแลตำรวจชั้นผู้น้อย เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการ เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องการวางรากฐานการทำงาน ที่สำคัญเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ประธาน กตร. ได้กำชับและมอบเป็นนโยบายสำคัญ และพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง ผบ.ตร. ก็ได้รับมาเป็นนโยบายสำคัญ 

การผลักดันโครงการหลาย ๆ เรื่องในขณะนี้ เช่นโครงการหาที่พักอาศัยให้ตำรวจ ยามที่ต้องเกษียณอายุราชการ หลาย ๆ คนยังไม่มีบ้าน หลังต้องตรากตรำงานจนเกษียณอายุราชการ ก็กำลังเดินหน้าทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง หรือการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อหาแนวทางจัดการเรื่องหนี้สินของตำวจ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ตำรวจ 200,000 นาย เฉลี่ยเป็นหนี้คนละ 1 ล้านบาท ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจทุกคนเป็นหนี้หมด แต่บางคนเป็นหนี้ 2-3 ล้าน จึงทำให้ค่าเฉลี่ยออกมาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ก็ได้ดำเนินการแก้ปัญหาตั้งแต่ห้วงแรก ๆ ที่ผบ.ตร. มารับตำแหน่ง เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างการดูแลเรื่องสวัสดิการ ความเป็นอยู่ให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจ

+ ขัดแย้งการเมือง-ตร.ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม+

ในอีกด้านที่ตำรวจมักตกเป็นจำเลยสังคม เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองพล.ต.ต.ยิ่งยศ หวังให้สังคมเข้าใจถึงหน้าที่ว่า ในห้วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัย กี่รัฐบาล ตำรวจก็ยังถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ทั้งที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ และยังยึดมั่นในการเป็นตำรวจของประชาชนเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับการชุมนุมในห้วง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ การกระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ก็ถือว่ามีความผิดชัดเจนอยู่แล้ว แต่ตำรวจยังคงแสดงท่าทีในการใช้หลักรัฐศาสตร์นำ แม้ในหลายครั้งมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ตำรวจก็ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจเป็นหลัก ก่อนที่จะใช้กฎหมายเข้าดำเนินการหากการฝ่าฝืนมีแนวโน้มยืดเยื้อ-รุนแรง ในขณะที่มาตรการควบคุมฝูงชน ก็อยู่ในมาตรฐานที่ทั่วโลกรับได้ อุปกรณ์ต่างๆที่นำมาใช้ ผ่านการวิจัยและทดลองมาแล้ว ในระดับสากล ว่าใช้แล้วสามารถสกัดกั้น ควบคุมฝูงชนได้ แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม

 โฆษก ตร.ปิดท้ายว่า ความพยายามเหล่านี้ คือเป้าหมายของ ผบ.ตร.เพื่อให้ตำรวจเป็นมืออาชีพ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปตำรวจ”