ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชีย และความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชีย และความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

162186090490

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 พ.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น หลังสิงคโปร์ ไต้หวัน และอินเดีย ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมอีกครั้ง ประกอบกับ ตลาดกังวลเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ชะลอตัว หลังสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลกชะลอการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปจนถึงเดือน ต.ค. 64 ประกอบกับ การเจรจาข้อตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่มีความคืบหน้า อาจส่งผลให้มีอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อคดาวน์ในยุโรปและสหรัฐฯ นอกจากนี้ บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonia Pipeline) ซึ่งเป็นผู้บริการท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ สามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งช่วยลดความกังวลในการขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ  

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยสิงคโปร์รายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน จึงประกาศมาตรการเข้มงวดในการรวมกลุ่มและการจัดกิจกรรมสาธารณะตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 64 ขณะที่ไต้หวันมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้มีการประกาศจำกัดการรวมตัวของประชาชนและปิดสถานบันเทิงต่างๆ ตั้งแต่ 18 พ.ค. 64 นอกจากนี้ อินเดียได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ในเมืองหลวงกรุงนิวเดลีเพิ่มอีก 1 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งถึงวันที่ 24 พ.ค. 64 เพื่อสกัดการแพร่ระบาด
  • อินเดียชะลอการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปจนถึงเดือน ต.ค. 64 เนื่องจากต้องจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในประเทศก่อน โดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลกที่ทำข้อตกลงกับโครงการโคแวกซ์ว่าจะส่งมอบวัคซีนให้ 1,100 ล้านโดสของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าหรือโนวาแวกซ์ ชี้แจงว่าทางสถาบันฯ จะกลับมาส่งมอบวัคซีนได้ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากชะลอการส่งออกมาได้เดือนเศษเนื่องจากการระบาดรุนแรงในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ อินเดียได้บริจาคและจำหน่ายวัคซีนไปแล้วกว่า 66 ล้านโดส แต่การระงับส่งออกวัคซีนของอินเดียเมื่อเดือนที่ผ่านมาทำให้ประเทศต่างๆ ได้แก่ บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา และหลายประเทศในแอฟริกาต้องเร่งจัดหาวัคซีนอื่นๆ มาสำรองไว้
  • สหรัฐฯ และอิหร่านมีความคืบหน้าในการฟื้นข้อตกลงจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเตหะราน โดยอิหร่านและสหรัฐฯ ได้เจรจากันตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 64 ซึ่งมีอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติสมาชิกในข้อตกลงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา โดยคาดการณ์ว่าหากการเจรจามีความคืบหน้า ก็อาจจะได้ข้อสรุปก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในช่วงเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลกได้อีกครั้ง
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้หารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และมีการเสนอให้เปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในสหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังคาดว่าเฟดอาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความเสี่ยงเงินเฟ้ออีกด้วย
  • การประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของอังกฤษและประเทศในทวีปยุโรป ส่งผลให้หลายเมืองและชายหาดกลับมาเปิดได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ที่ลดลง ทำให้นิวยอร์กเริ่มผ่อนปรนการบังคับสวมหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว
  • บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonia Pipeline) ซึ่งเป็นผู้บริการท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ขนส่งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยานจากบริเวณอ่าวเม็กซิโกไปยังภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกปิดเนื่องจากถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นเวลานานกว่า 6 วัน ซึ่งบริษัทฯ มีปริมาณการขนส่ง 5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 45% ของปริมาณความต้องการบริเวณฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 1/64 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 64 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 64 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน พ.ค. 64

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 พ.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 63.58 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 66.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 63.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังถูกกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้มีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอีกครั้งในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม และไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดมีความหวังจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯ หลังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ และลดข้อจำกัดในการเดินทาง ขณะที่ยอดจองเที่ยวบินจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในช่วงฤดูร้อนฟื้นตัวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 20