เหลียวหลัง7ปี พลิกบทเรียนกู้วิกฤติ!

เหลียวหลัง7ปี พลิกบทเรียนกู้วิกฤติ!

ทุกเหตุการณ์เป็นประสบการณ์ให้เรียนรู้ และนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยน พัฒนา เพื่อให้ดีกว่าเดิม! โดยเฉพาะห้วงเวลานี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ทุกบทเรียนจึงล้วนมีความหมาย! ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ "เอกชน" แนะเร่งต่อยอดเครื่องยนต์หลักเคลื่อนประเทศ

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เกิดหลายวิกฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทำให้การเดินหน้าสะดุดเป็นระยะ ทั้งขาดการ “ต่อยอด” ในหลายด้าน ซึ่งหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศต่างๆ ทั้งภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว!

อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ ด้วยการเดินหน้านโยบาย ‘ซ่อม-สร้าง’ ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว และบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติ สามารถรักษาความเป็นผู้นำของท่องเที่ยวโลกต่อไป”

รัฐต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ก่อสร้างถนนเพื่อการท่องเที่ยว พัฒนาปรับปรุงสถานีรถประจำทางและท่าเรือ การพัฒนา Rest Area หรือจุดพักรถเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทาง ทุก 50 กิโลเมตร บริเวณใกล้แหล่งท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด ซึ่งสามารถเป็นแหล่งรวมร้านค้าเช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชาวบ้านนำสินค้าโอทอปมาจำหน่ายได้ เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันท่องเที่ยววิถีชุมชนตามเส้นทาง เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ รัฐควรพิจารณาการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made Tourist Attraction) เช่น เมกะโปรเจคดึง “ดิสนีย์แลนด์” มาตั้งที่จังหวัดในภาคอีสาน มั่นใจว่าจะดึงช่วยนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จริง โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายซ่อม-สร้างภาคท่องเที่ยวอย่างจริงจัง สทท.จึงขอเสนอให้รัฐบาลแบ่งเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติมวงเงิน 7 แสนล้านบาทที่ใช้รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ นำมาซ่อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทะลักเข้ามาเที่ยวไทยหลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว”

แม้ที่ผ่านมาจะเกิดวิกฤติมากมาย แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเลือกมาเยือนประเทศไทย จนยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติไต่ระดับมาถึงเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 สร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท หลังประเทศไทยได้เปิดตัวแคมเปญ “Visit Thailand Year” เมื่อปี 2530 และผลักดันให้ภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ด้วยแคมเปญดัง “Amazing Thailand”

สทท.จึงมองว่าควรนำ “ท่องเที่ยวไทย” เป็นตัวนำเศรษฐกิจ ออกแคมเปญใหม่ “Revisit Thailand Year Again” ให้ปัง! อีกครั้งเพื่อกู้วิกฤตินี้ โดยดึงนักท่องเที่ยวกลับมาไทย เพราะการท่องเที่ยวสามารถต่อยอดไปยังภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ นำสู่การขยายตัวเติบโตไปได้พร้อมกัน เช่น ร้านอาหารภัตตาคาร คาเฟ่รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ภาคเกษตร ฯลฯ

วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงของยอดจำหน่ายหลายครั้งและหดตัวแรง!หลังหมดโครงการรถคันแรก ก่อนฟื้นตัวอีกครั้งช่วงปี 2560 เมื่อปลดล็อคการทำธุรกรรม 5 ปี ของผู้ซื้อรถในโครงการรถคันแรก ที่มีกว่า 1.3 ล้านราย

"ตลาดที่เป็นไปตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับดีมานด์ และซัพพลาย เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ต้องมีมาตรการกระตุ้นอะไรเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้ตลาดไม่คงที่ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในปัจจุบันแม้ตลาดรถยนต์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษอะไร แต่มุ่งไปที่การควบคุมการแพร่ระบาด จะส่งผลดีต่อทุกส่วนในระยะยาว"

ตลาดที่เปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบน จะเห็นว่าตลาดที่น่าสนใจ คือ รถเพื่อการพาณิชย์” ที่ยังคงได้รับความสนใจในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งจากลูกค้าเกษตรกร และอีกกลุ่มหนึ่งคือ อีโค คาร์” ที่มีระดับราคาที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย และตอบสนองการใช้งานได้ดี และมีส่วนช่วยในการพยุงเศรษฐกิจ

ทางด้าน แหล่งข่าวในวงการยานยนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านยานยนต์ของไทยค่อนข้างดี ทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ และผลักดันตลาดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางช่วงเวลาที่ตลาดบิดเบือนไปบ้าง เช่น โครงการรถคันแรก แต่หากมองย้อนไปตลาดก็สามารถปรับตัวมาอยู่ในภาวะปกติได้ก่อนเกิดวิกฤติโควิด

ส่วนประเด็นที่สังคมสนใจในช่วง 7 ปีจนถึงเวลานี้ คือ การส่งเสริมการผลิตและใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) โดยมีทั้งส่วนที่มองว่า “ล่าช้า” เพราะปัจจุบันตลาดยังมีขนาดที่เล็กมาก และไม่มีการผลิตที่ชัดเจน!

แต่ประเด็นนี้อยู่ที่ความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละตลาด หากไทยต้องการผลักดันจริงๆ ก็ไม่ควรมีแนวโนยบายที่หักดิบ เช่น การระบุว่าจะเลิกใช้ หรือ เลิกผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์ปีไหน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของการตลาดและการลงทุน เพราะถือว่าผู้ที่ลงทุนก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีความผิดอะไร

ภาครัฐ ควรจะคุ้มครองนักลงทุนอย่างทัดเทียม นอกจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายเดิมแล้ว ยังทำให้นักลงทุน ไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อนโยบายของไทย! 

ย้อนรอยอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี จากยุคฟื้นฟู ‘รถคันแรก’ ถึงโควิด-19

ตลาดรถยนต์ไทยก้าวสู่จุดสูงสุด ด้วยยอดขายที่เป็นประวัติการณ์ในปี 2555 ด้วยตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ 1,436,335 คัน จากที่ปี 2554 มียอดขายเพียง 794,081 คัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า หลังจากนั้นตลาดยังไม่เคยทำตัวเลขดังกล่าวได้เลย!  ใกล้เคียงที่่สุดคือปีถัดมา 2556  มียอดขาย 1,330,668 คัน ลดลง 7.4%

เหตุผลหลักข้อเดียวที่ทำให้ตลาดปี 2555 กระโดดขึ้นไปอย่างมาก เป็นผลมาจาก โครงการรถคันแรก” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลดภาษีสำหรับผู้ซื้อรถสูงสุด 1 แสนบาท ทำให้เกิดความต้องการซื้อสูงมาก เห็นได้จากเดือน ธ.ค.2555 ที่เป็นเดือนสุดท้ายของโครงการ มียอดจองรายเดือนกว่า 140,000 คัน  สรุปทั้งโครงการ มีผู้ใช้สิทธิ์จองรถในโครงการนี้ 1,256,291 ราย

และเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ เป็นสิ่งที่นักการตลาดหลายคนระบุว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยในตลาดรถยนต์! เพราะกำลังซื้อล่วงหน้าถูกดึงไปใช้ก่อน สำหรับผู้ที่จองรถซื้อรถไปแล้ว ก็เกิดปัญหาตามมา มีทั้งผู้ที่ไม่มีความต้องการรถที่แท้จริง และผู้ที่ซื้อรถเพราะแรงจูงใจจากการลดภาษี ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย และส่งผลต่อสินค้าอื่นๆ เนื่องจากผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ

ในส่วนของอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะการผลิต การตลาด ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีการเร่งผลิตจำนวนมากเพื่อส่งมอบ แต่เมื่อเกิดปัญหาลูกค้าไม่รับรถจำนวนมาก หลายบริษัทจึงมีปัญหาสต็อกล้น ดังที่เคยเป็นข่าวว่าหลายบริษัทต้องหาพื้นที่ว่างเพื่อจอดรถค้างสต็อก

ตลาดรถถดถอยต่อมาอีกหลายปี เมื่อรวมกับปัจจัยอื่นจึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาด โดยปี 2557 ลดลง 33.7%  จากปัจจัยลบสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ราคาพืชผลการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ

ปี 2558 ตลาดในเอเชียยังคงชะลอตัวเติบโตในระดับต่ำ 2.5% ขณะที่ “ไทย” หดตัว 9.3% อยู่ที่ 799,594 คัน โดยยังคงได้รับผลจากโครงการรถคันแรก และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีกำลังซื้อที่เร่งเข้ามาช่วงปลายปี 2557 จากการเตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ 1 ม.ค.2558 แต่ก็มีผลแค่ชะลอการติดลบเท่านั้น

ปี 2559 ยังคงมีปัจจัยลบต่อเนื่อง ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ถูกดึงไปใช้ล่วงหน้าก่อนการปรับภาษีสรรพสามิต แม้จะมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายเงินลงทุนจากภาครัฐ การผลักดันและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน แต่ยอดขายรถก็ยังติดลบ 3.9%

ปี 2560 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ตลาดกลับมาเติบโต13.3%จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ผลักดันให้จีดีพีของประเทศโต 3.9%  

ตามติดมาด้วยปี 2561 ที่เติบโตต่อเนื่อง 19.2% และเป็นครั้งแรกที่ตลาดอยู่ในระดับล้านคันอีกครั้ง โดยไม่มีมาตการส่งเสริมโดยเฉพาะ ซึ่งเหตุผลหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ จีดีพี โต 4.2% ส่วนปี 2562 ตลาดหดตัวเล็กน้อย 3% แต่ก็ยังรักษาระดับล้านคันเอาไว้ได้ โดยตลาดที่หดตัวเริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่เดือน ก.ย.

ขณะที่ปี 2563 เป็นปีที่ตลาดหดตัวรุนแรงจากวิกฤติโควิด!!!