'เด็กพรรคกล้า' จี้ รัฐ-กทม. เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

'เด็กพรรคกล้า' จี้ รัฐ-กทม. เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

“เด็กพรรคกล้า” จี้ รัฐ-กทม. เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว นำขนส่งสาธารณะคืนประชาชน อัด กทม.บริหารแบบไหนปล่อยให้ "บีทีเอส" ทวงหนี้ 3 หมื่นล้านแลกต่อรองสัมปทาน 30 ปี

นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ผู้สมัคร ..เขตสวนหลวง พรรคกล้า กล่าวว่า คงเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย นำข้อความทวงหนี้ กทม.กว่า 30,000 ล้านบาท ขึ้นจอในขบวนรถไฟฟ้าและที่สถานีรถไฟฟ้า ทำให้ผู้พบเห็นพากันฉงนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยหนี้ 33,222 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและงานซ่อมบำรุงต่างๆเพื่อรัษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล หนี้ก้อนใหญ่นี้ กทม.ไม่มีปัญญาจ่ายแน่นอนเพราะรายได้จากการขายตั๋วไม่พอ แต่ขนส่งสาธารณะไม่ใช่เรื่องการทำกำไรอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะสามารถคืนกลับมาเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจในด้านอื่น และหาก กทม.ยังคงไม่จ่าย หนี้จะพอกพูนขึ้นทุกวัน วันละประมาณ 24 ล้านบาท

นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า ทางออกคือการใช้หนี้และเตรียมเงินก้อนใหญ่ไว้เป็นค่าจ้างเดินรถถึงปี 2572 คือจนถึงหมดอายุสัมปทานเดิมคิดเป็นราว 1 แสนล้านบาท หรือประมาณปีละ 12,000 ล้านบาท อีกทางหนึ่งคือยอมตามที่เจ้าหนี้บีบให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวไปอีก30 ปี ซึ่งอย่างหลังจะไม่ส่งผลดีจ่อประชาชน เพราะเอกชนย่อมหวังกำไรสูงสุดจากการลงทุน และการที่รถไฟฟ้ามีหลายสาย หลายสัมปทานไม่เป็นองค์รวมเดียวกัน ระบบตั๋วร่วมราคาถูกจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยประชาชนจะต้องใช้ขนส่งสาธารณะค่าตั๋วแพงเรื่อยไปยันศตวรรษหน้าการต่อสัมปทานเรื่อยไปไม่เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนและไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมเพราะกรุงเทพหรือเมืองต่างๆจำเป็นต้องมีขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงและ กทม.ควรเป็นต้นแบบในเรื่องนี้

นายอริย์ธัช กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการลงทุนแบบไม่วางแผนแล้วไปแก้ปัญหาง่ายๆโดยการจ้างให้เอกชนมาทำแทน ซึ่งเอกชนต้องลงทุนและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินรถรวมทั้งค่าซ่อมบำรุงรักษา แต่การไม่จ่ายค่าจ้างต่อเนื่องมาหลายปี หนี้ก็พอกไม่มีใครเขาทำ เอกชนก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไรหรือจงใจให่เกิดสภาพบีบคั้นเพื่อสมยอทปล่อยสัมปทานให้เอกชนไปใช้ทำมาหากิน เพราะรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งที่สร้างกำไรได้ ทั้งรายได้จากโฆษณาหรืออสังหาริมทรัพย์โดยรอบ ไม่ใช่รายได้จากค่าตั๋วอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้ามองการขนส่งสาธารณะอย่างเป็นองค์รวม ทุกสี ทุกสาย ทุกระบบ ทั้งรถราง เรือ ก็จะสามารถทำขนส่งสาธารณะราคาถูกได้ ซึ่งแบบนี้จะเป็นประโยชน์กลับประชาชนมากกว่า

"ปัญหานี้รัฐบาลและ กทม.ต้องเคลียร์ให้จบโดยเร็ว มีแผนแกไขฟื้นฟูหนี้ให้ชัด ไปเตรียมงบประมาณ ไปคุยกับสภาและไปคุยกับเจ้าหนี้ว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร ปีละเท่าไหร่จึงพอยอมรับกันได้ อยากให้มองกรณีการบินไทยที่อุ้มแล้วอุ้มอีกคนได้ประโยชน์คงมีไม่กี่คนและไม่เห็นอนาคตว่าจะทำกำไรได้อย่างไรก็ยังทำ แต่การสนับสนุนรถไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะทั้งระบบจะมีประชาชนจำนวนมหาศาลได้ประโยชน์ เรื่องนี้ต้องคิดบนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นพื้นฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคิดและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็วหากปล่อยให้เขาทวงหนี้ทุกวันและสร้างหนี้วันละ 24 ล้านบาท ถ้าผมเป็นผู้ว่า กทม. หรือรัฐมนตรีคมนาคมก็คงไม่อาจแบกหน้าอยู่ในตำแหน่งต่อแล้ว" นายอริย์ธัช ระบุ