‘เมืองไทยประกันภัย’พลิกเกมรุกรายย่อย พุ่งเป้าออนไลน์ชิงความได้เปรียบช่วงโควิด

‘เมืองไทยประกันภัย’พลิกเกมรุกรายย่อย พุ่งเป้าออนไลน์ชิงความได้เปรียบช่วงโควิด

‘เมืองไทยประกันภัย’ ปรับแผนธุรกิจปีนี้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 รุกรายย่อย พุ่งเป้าบุกออนไลน์- ออกสินค้าตรงใจกลุ่มลูกค้า หนุนเบี้ยรับรวมตาม 17,068 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน พร้อมเขย่าพอร์ตลงทุน1.5หมื่นล้านหนุนผลตอบแทนดี

เมื่อธุรกิจดั้งเดิมถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ส่งผลให้ความต้องการ (ดีมานด์) ซื้อประกันภัยลดลง ไล่มาตั้งแต่ ประกันทางธุรกิจ ประกันรถยนต์ ประกันการเดินทาง แต่หนึ่งเดียวที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่น และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ คงต้องยกให้ “ประกันโควิด-19” สะท้อนผ่านยอดขายขยายตัวในระดับสูง

และหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้ ที่สามารถปรับตัวหันมารุกประกันรายย่อยผ่านบริการช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัล (ออนไลน์) ได้อย่างรวดเร็วอย่าง บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ MTI ซึ่งสามารถช่วงชิงความได้เปรียบ หรือ การสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน

“นวลพรรณ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MTI ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อนาคตหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่องของการซื้อประกันภัยจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะหันมาซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งคนไทยจะเห็นความสำคัญของการทำประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจประกันที่จะเข้ามาช่วย “ขยายฐานผู้เอาประกันรายย่อย” เพิ่มมากขึ้น

162179371415

ดังนั้น ปี 2564 แผนธุรกิจของบริษัทปรับมาเน้นขยายฐานลูกค้ารายย่อย เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ด้วยกลยุทธ์ขยายงานผ่านช่องทางขายตรงผ่านออนไลน์มากขึ้น สะท้อนผ่าน การพัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์ม “MTI Connect” ที่ซื้อประกันภัยออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ เพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว เจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ทั้งรายใหม่และรักษางานต่ออายุ

รวมทั้งการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้ารายย่อย และเติบโตในผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่มีกำไร เช่น การประกันอัคคีภัย การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันภัยสุขภาพ การประกันภัยรถยนต์ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม และศึกษานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญบริษัทยังคงต้องดำเนินการคือ สร้างและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ “เมืองไทยประกันภัย” ให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และ มุ่งพัฒนาพนักงานในองค์กรให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทได้มีการปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยยังมีแนวทางการทำธุรกิจในปี 2564 เพื่อให้เบี้ยรับรวมเป็นไปตามเป้าหมาย 17,068 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“นวลพรรณ” กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 น่าจะใกล้เคียงไตรมาส 1 ปี 2564 เพราะสถานการณ์โควิดระลอก 3 เน้นการขายรายย่อยผ่านระบบออนไลน์ และเน้นเพิ่มและรักษางานต่ออายุให้มากที่สุด ส่วนครึ่งปีหลังยังยากจะประมาณการขึ้นอยู่กับผลการฉีดวัคซีนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้ารายใหญ่

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อลดต้นทุน บริหารจัดการสินไหมลดลง และมีรายได้จากการลงทุนทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น แม้เบี้ยประกันรับรวมลดลงเล็กน้อยเท่านั้น

บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาส 1 ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน บริษัทมีกำไรสุทธิ 225.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.02% มีรายได้รวม 2,599.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.39% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้มาจากรายได้การลงทุนและรายได้อื่นๆ 194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.90% และรายได้เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็น​รายได้สุทธิ​ 1,912.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.85% โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 3,676.87 ล้านบาท ลดลง 3.95% ด้านค่าใช้จ่ายสินไหมลดลง 6.78% อยู่ที่ 1,066.20 ล้านบาท จากการบริหารจัดการสินไหมรถยนต์ดีขึ้นทั้งการปรับเบี้ยให้เหมาะสมและสินไหมภาพรวมจากการรับประกันทั่วไปลดลง

“ผลการดำเนินงานบางส่วนมีส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19ระลอก 3 การเติบโตยอดขายลำบากมากขึ้น แม้จะมียอดการต่ออายุกรมธรรม์โควิด-19ที่ออกในเดือนมี.ค.2563 และครบอายุมาช่วยบ้าง บริษัทเน้นการขายผ่านช่องออนไลน์มากขึ้นและมีการบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน และมีรายได้จากการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายได้เงินปันผลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี”

ทางด้านการลงทุนในปีนี้ “นวลพรรณ” กล่าวว่า บริษัทวางกลยุทธ์ลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตไปในแนวทางเดียวกันกับการเติบโตของยอดขาย และในช่วงโควิด-19 ได้มีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และรีท (PF&REITs) เนื่องจากยังฟื้นตัวได้ยากจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง และหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และหุ้นฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงพักเงินในกองทุนมันนี่มาร์เก็ต เพื่อเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นและรอจังหวะโอกาสการลงทุน และการลงทุนตราสารหนี้ เน้นลงทุนหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ระยะ 5-10 ปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันพอร์ตลงทุน 14,000-15,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 16.3% , กองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ (PF&REITs) 15.7% , ตราสารหนี้และเงินฝาก 68% ทั้งนี้การปรับพอร์ตลงทุนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนไม่น้อยกว่าปีก่อน โดยผลตอบแทนปี 2563 ที่ 2.79% และไตรมาส 1 ปีนี้ที่ 2.38%