'วัคซีน' กับความมั่นใจทางเศรษฐกิจ

'วัคซีน' กับความมั่นใจทางเศรษฐกิจ

นอกจากวัคซีนโควิดจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางด้านสุขภาพในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ขณะเดียวกันก็ยังช่วยสร้างความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจด้วย สะท้อนจากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยล่าสุดโดย ธปท. ที่มองภาพจีดีพีจะมีการขยายตัว

ในขณะที่คนไทยกำลังรอวัคซีนกันอย่างใจจดใจจ่อก็ปรากฏข่าวจากหนังสือพิมพ์ New York Times (NYT) เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า มลรัฐโอไฮโอกำลังจะนำเอางบประมาณเยียวยาที่ได้รับจากรัฐบาลกลางมาใช้ออกสลากชิงรางวัลให้กับผู้ที่มาฉีดวัคซีน คนละ 1 ล้านดอลลาร์ 1 รางวัลต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 5 สัปดาห์

ทั้งนี้เพราะปัจจุบันสหรัฐได้ฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 70% ของประชากร และยังมีวัคซีนเหลือใช้อีกเป็นพันล้านโดส (รัฐบาลสหรัฐสั่งซื้อวัคซีนประมาณ 1,300 ล้านโดสเทียบกับประชากรประมาณ 340 ล้านคน)

ในอีกด้านหนึ่งหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานวันเดียวกันกับ NYT ว่า การเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำลายสถิติในยุคที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้สนามบินหลักในหลายเมืองใหญ่มีความแออัดเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกับการแย่งซื้อตั๋วเครื่องบินและการเดินทางที่ต้องใช้เวลามากขึ้น ตลอดจนราคาค่าโดยสารก็ปรับขึ้นไปอย่างก้าวกระโดด

โดยมีเกล็ดข่าวอีกด้วยว่าผู้ที่เดินทางเป็นจำนวนมากคือผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีความเชี่ยวชาญในการเดินทางและต้องใช้เวลามากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

การติดโควิด-19 รายใหม่ของสหรัฐในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นลดลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงในต้นเดือน ม.ค. (ณ ขณะนั้นฉีดไปได้เพียง 20-30% ของประชากร) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันประมาณ 250,000 คน แต่ ณ วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ “เพียง” 38,000 คน ที่น่าสนใจคือตัวเลข 38,000 คนน่าจะมองได้ว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะสหรัฐมีประชากรประมาณ 5 เท่าของประเทศไทย

ดังนั้น หากเปรียบเทียบว่าสหรัฐเป็นประเทศไทยก็แปลความได้ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 38,000÷5=7,600 คน หากประเทศไทยเผชิญสภาวการณ์ดังกล่าวก็คงจะตื่นตระหนกกันอย่างมาก ทั้งนี้ ณ วันนี้ที่สหรัฐก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันละประมาณ 650 คน หากคำนวณเป็นสัดส่วนก็เสมือนว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เท่ากับวันละ 130 คน ซึ่งน่าจะยิ่งทำให้คนไทยตื่นตระหนกมากขึ้นไปอีก

แต่ดังที่กล่าวข้างต้น การมีวัคซีนเหลือใช้และการที่ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 70-80% ได้ฉีดวัคซีนแล้วได้ทำให้เกิดความมั่นใจอย่างสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างเร่งรีบกลับไปสู่ภาวะปกติ โดยประมาณการว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัว 7% ในปีนี้หลังจากติดลบเพียง 3.5% ในปีที่แล้ว แตกต่างจากไทยที่ปีที่แล้วจีดีพีติดลบถึง 6.1% ในขณะที่จีดีพีปีนี้อาจขยายตัวได้เพียง 1-2%

ในทำนองเดียวกัน การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยล่าสุดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 5 พ.ค. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินก็สะท้อนแนวคิดนี้ คือการให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในการกำหนดทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งผมขอสรุปให้เห็นภาพได้อย่างรวบรัดดังนี้

1.หากประเทศไทยจัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 100 ล้านโดสภายในปลายปีนี้แล้วเร่งฉีดวัคซีน ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Head Immunity) ได้ภายในไตรมาส 1 ของปีหน้า จีดีพีของไทยก็จะขยายตัวได้ 2% ในปีนี้และ 4.7% ในปีหน้า 

2.หากประเทศไทยจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ ทำให้ต้องจัดหาเพิ่มในปีหน้าและการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้การได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้าไปถึงไตรมาส 4 ของปีหน้า จีดีพีก็จะขยายตัวได้เพียง 1.0% ในปีนี้และ 1.1% ในปีหน้า 

3.แปลว่าหากแนวทางของประเทศไทยเป็นไปตามข้อ 2 ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียจีดีพีทั้งสิ้นประมาณ 890,000 ล้านบาท (หรือเท่ากับ 5.7% ของจีดีพีในหนึ่งปี) 

4.หากเชื่อการประเมินของ ธปท.ก็ไม่ต้องคิดเลยมากว่าการให้ได้ซึ่งวัคซีนสัก 100 ล้านโดสนั้นคุ้มค่าอย่างมากมายในเชิงของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เพราะหากวันนี้เราสามารถรับมอบวัคซีนของไฟเซอร์ได้ 100 ล้านโดส (ซึ่งล่าสุดขายให้สหภาพยุโรป 900 ล้านโดสที่ราคา 20 ดอลลาร์ต่อโดส) ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายเท่ากับ 62,600 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าเงินที่ต้องแจกให้กับประชาชนภายใต้โครงการ “เราชนะ” (?) เพื่อเยียวยาเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 2 เดือน โดยต้องแจกเงินให้กับประชาชนคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 67,000 ล้านบาท (ซึ่งอาจต้องแจกให้อีกในอนาคตหากฉีดวัคซีนได้ล่าช้า)

แต่การประเมินของ ธปท.นั้นอาจผิดพลาดก็ได้ อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดอาจไปในทิศทางที่ประโยชน์ของวัคซีนในการพลิกฟื้นความมั่นใจและพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีผลในเชิงบวกมากกว่าที่ ธปท.ประเมินก็เป็นได้ 

เรื่องของวัคซีนนั้นก็มีความไม่แน่นอนสูง เช่น

1.ประชาชนบางส่วนอาจไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน (เช่นที่เกิดขึ้นอยู่ที่ฮ่องกงและสหรัฐ) ทำให้การได้ภูมิคุ้มกันหมู่ต้องล่าช้าออกไป 

2.ไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วและบางสายพันธุ์อาจบั่นทอนประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ เช่นในกรณีของเกาะเซเชลส์ เกาะมัลดีฟส์ และประเทศอิสราเอลนั้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ทั้งหมดแล้ว แต่เมื่อเปิดประเทศก็พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

3.วัคซีนบางชนิด เช่น แอสตร้าเซนเนก้า มีงานวิจัยพบว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ดังนั้น หากไทยใช้วัคซีนดังกล่าว ไทยก็อาจสามารถเปิดเศรษฐกิจให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้อย่างจำกัด

ดังนั้น ความสามารถในการบริหารจัดการในส่วนของการ Testing Tracing Isolation และ Treatment ก็น่าจะยังมีความสำคัญต่อไปอีก และการแสวงหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่จัดการกับไวรัสที่กลายพันธุ์ในจำนวนที่เพียงพออย่างทันท่วงที คงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในอนาคตและควรได้รับบทเรียนจากปลายปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยสั่งวัคซีนเพียงประเภทเดียวและรอรับมอบอย่างค่อยเป็นค่อยไปเดือนละ 10 ล้านโดสในครึ่งหลังของปีนี้

เพราะคงจะมั่นใจอย่างมากว่าสามารถควบคุมการระบาดได้โดยไม่ได้บริหารความเสี่ยง โดยการสั่งซื้อวัคซีนหลากหลายชนิดและเร่งรัดให้มีการส่งมอบอย่างรวดเร็วที่สุดในปริมาณที่เผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอครับ