แนะ 4 แนวทาง 'ผู้ประกอบการท่องเที่ยว' ปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

แนะ 4 แนวทาง 'ผู้ประกอบการท่องเที่ยว'  ปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

ศิษย์เก่าท่องเที่ยวฯ DPU แนะอาชีพมั่นคงด้าน "ท่องเที่ยว" พร้อม 4 แนวทาง "ผู้ประกอบการ ท่องเที่ยว"ปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ยังสามารถยืนอยู่ท่ามกลางวิกฤตินี้ได้บ้าง

นายรณพล จันทราโชติ  เลขานุการ ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)   ศิษย์เก่าของภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้แชร์แนวทางประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ว่า หลังจากจบการศึกษา ตนได้นำความรู้ความสามารถจากห้องเรียนมาใช้ในการทำงาน ซึ่งงานที่ได้รับผิดชอบในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการบูรณาการความรู้จากหลากหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็น วิชามัคคุเทศก์ วิชาการจัดนำเที่ยว วิชาประวัติศาสตร์ไทยเพื่อการนำเที่ยว ฯลฯ

อีกทั้งการมาทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้ทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อทำการตลาดการท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้ทำงานสนับสนุนข้อมูลวิชาการ งานวิเคราะห์แผนการตลาด การจัดประชุม การบรรยายเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ 

  • 4 แนวทาง "ผู้ประกอบการท่องเที่ยว" ต้องปรับให้ทัน

นายรณพล กล่าวต่อว่าสิ่งที่ "ผู้ประกอบการท่องเที่ยว"ต้องยอมรับ อันดับแรก คือ รูปแบบของพฤติกรรมการท่องเที่ยวและการติดต่อซื้อขายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเรียกว่า digital disruption ที่คนทั่วโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักท่องเที่ยวจะมีความชำนาญและพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล การสำรองและการแชร์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวจะรวดเร็วมาก ถ้าผู้ประกอบการใดปรับตัวไม่ทันก็จะต้องยุติธุรกิจไปโดยปริยาย   

ดังนั้น ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะต้องปรับตัวให้พร้อมและทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น 1) งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศก็บรรลุความสำเร็จได้ ดังนั้น สถานที่ทำงานอาจจะลดความสำคัญลง 2) พนักงานในองค์กรจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาทักษะงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการ up-skill, reskill หรือ cross-skill ซึ่งหมายถึงพนักงาน1 คน ต้องสามารถทำงานได้หลายตำแหน่งงาน เช่น เดิมหน้าที่ประจำคือเขียนโปรแกรมทัวร์ อาจจะต้องสามารถออกแบบทำcontent ทำคลิป ส่งเสริมการตลาดได้

3) ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอขายอาจต้อง customized สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหรือพฤติกรรมการท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน 4) รูปแบบการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว เป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น  เพื่อสร้างความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ อาจเป็นการขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของฝากหรือสินค้าชุมชนท่องเที่ยว อาจพลิกโฉมมาเป็นการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์แทน

  • ความแตกต่างระหว่าง "มัคคุเทศก์"กับ "งานการตลาด"

ทั้งนี้ ความแตกต่างของการเป็น"มัคคุเทศก์"ที่มีประสบการณ์กับ "นักวางแผนการตลาด"นั้น ผู้ที่มีอาชีพการนำเที่ยว การทำทัวร์ ต้องมีจิตใจของการบริการ มีความรู้รอบตัว มีทักษะการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ มาพูดคุยกับ "นักท่องเที่ยว"ได้อย่างมีอรรถรส และสิ่งสำคัญคือต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดี

สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เนื่องจากการทำงานในภาคการ"ท่องเที่ยว"ต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากพูดถึงงานด้านการตลาดทั่วไป ส่วนมากจะเป็นงานที่ต้องวิเคราะห์ลักษณะลูกค้าที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้า สินค้าที่มีควรจะขายให้กับกลุ่มลูกค้าประเภทใด วางขายที่ใดจึงจะเหมาะสม ควรตั้งราคาสินค้าเท่าใด และสินค้าต้องมีความโดดเด่นอย่างไรจึงจะดึงดูดใจให้คนมาซื้อ

แต่ถ้าเป็นงานของ "นักวางแผนการตลาด"เพื่อการท่องเที่ยวจะมีมากกว่านั้น กล่าวคือ ต้องเข้าใจองค์ประกอบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว พาหนะเดินทาง ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก รวมถึงร้านขายของฝาก ของที่ระลึก เพื่อจะนำมาร้อยเรียงให้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ (package tour) บุคคลที่สามารถวางแผนการตลาดท่องเที่ยวได้อย่างเข้าใจนักท่องเที่ยว

ส่วนมากจะมีพื้นฐานของการผ่านงานด้านผู้นำเที่ยวมาก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์โดยตรงในการบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญมากเพราะพฤติกรรม "นักท่องเที่ยว"เปลี่ยน ชอบเดินทางเอง ดังนั้น งานการตลาดที่เข้ามาใหม่ คือ การที่หน่วยงาน ททท. เขียนรายการนำเที่ยวขึ้นมาแล้วเชิญบล็อกเกอร์ (blogger) ท่องเที่ยวไปช่วยรีวิวการเดินทางดังกล่าว