‘การบินไทย’ เร่งรื้อศูนย์ซ่อม ยันลงทุนโปรเจคใหม่อู่ตะเภา

‘การบินไทย’ เร่งรื้อศูนย์ซ่อม ยันลงทุนโปรเจคใหม่อู่ตะเภา

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) สนามบินอู่ตะเภา ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ

ซึ่งบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนลงทุนก่อนหน้านี้ ต้องย้ายศูนย์ซ่อมอากาศยานปัจจุบันออกเพื่อส่งคืนพื้นที่ให้กองทัพเรือนำไปพัฒนาสนามบิน โดยกองทัพเรือกำหนดพื้นที่ใหม่ให้การบินไทย แต่ระยะเร่งด่วนขณะนี้การบินไทยต้องรีบรื้อย้ายออกจากศูนย์ซ่อมอากาศยานเดิมที่หมดสัญญาเช่า

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า สนข.ได้รับรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่คืบหน้าหลายโครงการอยู่ในช่วงดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ฐานรากเพื่อเตรียมพร้อมในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับเอ็มอาร์โอในพื้นที่กองทัพเรือคืบหน้าในส่วนโครงการก่อสร้างระยะที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันกองทัพเรือประกวดราคาหาเอกชนมาเริ่มงานปรับปรุงพื้นที่ และงานบางส่วนเริ่มก่อสร้างไม่ได้ เพราะต้องรอความชัดเจนจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ส่วนโครงการเอ็มอาร์โอ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ตามแผนจะใช้งบประมาณปี 2563–2567 ขณะนี้กองทัพเรือออกแบบแล้วเสร็จและผ่านการอนุมัติจาก ครม. และรอความชัดเจนจากการบินไทยในการทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอเจ้าหนี้

ทั้งนี้ การบินไทยรายงานความคืบหน้าเอ็มอาร์โอว่า ออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ และทยอยเบิกจ่ายงบประมาณต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 การบินไทยเบิกจ่ายงบประมาณ 11 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 เบิกจ่าย 22 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 การบินไทยเตรียมเบิกจ่าย 846 ล้านบาท เพื่อผลักดันโครงการนี้

รวมทั้งการบินไทยชี้แจงสาเหตุการชะลอเอ็มอาร์โอเพราะวันที่ 23 มี.ค.2563 บริษัทแอร์บัส ที่เป็นเอกชนที่การบินไทยเจรจาร่วมลงทุนได้ทำหนังสือถึงการบินไทยว่าไม่อยู่ในสถานะที่จะยื่นข้อเสนอตามเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ได้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ประชุมวันที่ 21 เม.ย.2563 เพื่อพิจารณาแนวทางโครงการและแจ้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ขณะเดียวกันวันที่ 22 พ.ค.2563 กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยลงต่ำกว่า 50% ทำให้การบินไทยพ้นจากรัฐวิสาหกิจจึงดำเนินโครงการเอ็มอาร์โอในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการตามกฎหมายเอกชนร่วมลงทุนรัฐ (พีพีพี) ไม่ได้ และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการต้องพิจารณาโครงการเอ็มอาร์โอใหม่ แต่ยืนยันว่าการบินไทยยังสนใจลงทุนโครงการนี้

162158615214

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย เผยว่า ภายในปีนี้ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทยที่อยู่ในอู่ตะเภาครบกำหนดรื้อย้าย เพื่อพัฒนาโครงการอื่นของกองทัพเรือ โดยการบินไทยได้สิทธิพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานพื้นที่ใหม่ และเตรียมประกาศเชิญชวนจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมให้สอดคล้องการรื้อย้ายพื้นที่ใหม่

อีกทั้ง การบินไทยต้องทบทวนความเหมาะสมการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรูปแบบการกำหนดคุณสมบัติเอกชนร่วมลงทุนจะไม่ได้กำหนดเฉพาะเอกชนรายใหญ่ผู้ผลิตอากาศยานเท่านั้น เพราะมีจำกัดเพียง 2 ราย คือ โบอิ้ง และแอร์บัส แต่จะเปิดกว้างให้เอกชนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินทั้งการซ่อมอากาศยานหรือสายการบิน

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่แจ้งต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 การบินไทยระบุถึงการรื้อถอนและขายทรัพย์สินที่ดินเช่าในศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่ง สกพอ.บอกเลิกสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 กับการบินไทย โดยให้สัญญาเช่าสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ.2564 และให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกจากที่ดินเช่าและส่งมอบที่ดินเช่าให้ สกพอ.ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง เพื่อให้ สกพอ.นำพื้นที่ไปพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่วนการรื้อถอนศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 กำลังดำเนินการ ซึ่งจะเสร็จไม่เกินวันที่ 31 ต.ค.2564 ใช้เวลารื้อถอน 6-7 เดือน และก่อนรื้อถอนต้องย้ายทรัพย์สินจำนวนมากที่ยังใช้ได้ออกมา พร้อมทั้งขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเพราะเสื่อมสภาพและเสื่อมราคาตามอายุการใช้งาน หรือมีมากเกินความจำเป็นการใช้งาน และย้ายไปที่ทำการอื่นของการบินไทยไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่จัดเก็บ หรือนำมาใช้หลังการจัดเก็บไม่ได้อีก 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การบินไทยมีภาระค่าใช้จ่ายการขนย้าย จัดหาสถานที่เก็บและค่าดูแลรักษาเพิ่มสูงเกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจึงต้องขายทรัพย์สินดังกล่าว โดยขายไม่ต่ำกว่าราคาประเมินและไม่อาจรอดำเนินการหลังแผนฟื้นฟูกิจการมีผลบังคับใช้ รวมทั้งวันที่ 11 มี.ค.2564 การบินไทยยื่นคำร้องขอย้ายทรัพย์สินจากการรื้อถอนต่อศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ลูกหนี้เป็นคู่สัญญาที่ทำไว้เดิม เป็นการขายทรัพย์สินที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ทำให้เกิดภาระกับการบินไทยเพิ่ม

 

แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ เผยว่า กองทัพเรือดำเนินงานส่วนที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบ คือ การศึกษาออกแบบ การเตรียมพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้าง โดยปีงบประมาณ 2563 ประกวดราคาจ้างเอกชนรับเหมารวม 4 งาน มูลค่า 1,890 ล้านบาท ได้แก่ 

1.งานจ้างปรับถมดินและงานอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่า 660 ล้านบาท 2.จ้างควบคุมงานถมดินและงานอื่นที่เกี่ยวข้องการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 16.5 ล้านบาท 

3.จ้างปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 1,180 ล้านบาท 4.จ้างควบคุมงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน วงเงิน 29.6 ล้านบาท