โควิดเขย่า 'ผบ.คุก' สะเทือนเก้าอี้ 'อธิบดีกรมราชทัณฑ์'

โควิดเขย่า 'ผบ.คุก' สะเทือนเก้าอี้ 'อธิบดีกรมราชทัณฑ์'

เสียงอื้ออึงภายใน 'กระทรวงยุติธรรม' ว่าเตรียมย้าย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่ เซ่น โควิดระบาดหนักในเรือนจำ

กลายเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับ 'กรมราชทัณฑ์' กับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด 'โควิด-19' ทะลุทะลวงเข้าไปในหลาย  เรือนจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล  ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 8 เรือนจำ เข้าขั้น 'โคม่า' เพราะนอกจากต้องทำงานแข่งกับเวลาแล้ว ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมือง 

จึงได้เห็น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ออกอาการฮึ่มๆขู่ฟัน 'ผู้บัญชาการเรือนจำ' ทุกคน รวมถึงข้าราชการทุกตำแหน่งใน 'กรมราชทัณฑ์' ซึ่งคลอบคลุมไปถึง 'เก้าอี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์' คนที่ 36  'อายุตม์ สินธพพันธุ์' ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่ถึงปี โทษฐานปล่อยปละละเลย 

เพราะหากย้อนไปฟังนโยบายของ นายสมศักดิ์ ที่ได้มอบให้ 'กรมราชทัณฑ์' ในห้วง นายอายุตม์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 หนึ่งนั้นคือ การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยวางแนวทางไว้ว่าในปี 2564 จะไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว หรือถ้าแออัดก็แค่เพียงชั่วคราวเพื่อรอการโอนย้ายเท่านั้น

แต่เสียงยืนยันจากปากของ 'แกนนำราษฎร' ทยอยติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างถูกคุมขัง อาทิ อานนท์ นำพา , ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สภาพภายในเรือนจำแออัดและการบริหารจัดการที่ไม่ดี ทำให้เกิดการระบาดรวดเร็ว กลายเป็นระเบิดตูมใหญ่หล่นใส่ 'กรมราชทัณฑ์' กับข้อครหาปกปิดข้อมูล

จนทำให้นายสมศักดิ์ ออก 10 มาตรการเชิงรุกให้ 'กรมราชทัณฑ์' นำไปปฏิบัติเพื่อหยุดวิกฤติดังกล่าวให้ได้โดยไว อาทิ ตรวจเชิงรุกทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่, การตรวจสอบต้นเหตุการติดเชื้อ, การดูแลผู้ต้องขังติดเชื้อ ,เปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อและติดประกาศหน้าเรือนจำฯ

ควบคู่ไปกับตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ นายนิยม เติมศรีสุข รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองผู้อำนวยการ มีอธิบดีกรมต่างๆร่วมเป็นคณะทำงาน

โดยเหตุผลหนึ่ง นายสมศักดิ์ ดึงปลัดกระทรวงยุติธรรม มานั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว หลังพบว่า ยังมีผู้ต้องขังล้นเรือนจำบางแห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 1.2 ตร.ม.ต่อคน พร้อมทั้งเน้นย้ำ ผบ.เรือนจำ ทำความเข้าใจ Standard Operation Procedure (SOP) หรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน 

"ผบ.เรือนจำ อยู่ที่นั้นได้ทำอะไรบ้าง เตรียมการอะไรอยู่ การปล่อยให้เชื้อโควิดเข้าไปในเรือนจำ เมื่อโควิดจบ ผมจะบอกกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ปรับลด จาก ผบ.เรือนจำใหญ่ ไป ผบ.เรือนจำเล็ก จาก ผบ.เรือนจำเล็ก ก็ไปทำอย่างอื่น เพราะว่าวันนี้จะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้ รวมถึงทุกตำแหน่งในกรมราชทัณฑ์" นายสมศักดิ์ กล่าว

จนทำเกิดข่าวลืออื้ออึงภายในกระทรวงยุติธรรม  ว่าจะมีการสั่งย้าย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ จนทำให้ นายสมศักดิ์ ต้องรีบออกมาดับกระแสดังกล่าวโดยยืนยันว่า

"เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผมยังไม่ได้สั่งย้ายใครใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้เป็นเพียงการคาดโทษไว้ และเร่งให้ทำงานแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 อย่างเร็วที่สุด โดยให้นโยบายเน้นการทำงานเชิงรุกกับกรมราชทัณฑ์"

ในขณะที่  'อธิบดีกรมราชทัณฑ์' ก็ออกมายอกรับว่า ผลการสอบสวนสาเหตุการแพร่ระบาดในเรือนจำ เกิดจากการฝ่าฝืน ไม่ปฎิบัติตามระเบียบการเฝ้าระวัง และการป้องกันการแพร่ระบาด โดยเจ้าหน้าที่เองอาจเป็นพาหะนำเชื้อเข้าไปสู่เรือนจำและแพร่ระบาดไปยังผู้ต้องขัง พร้อมสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่ภายนอกเข้าไปในแดนเรือนจำ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในแดนเรือนจำ ห้ามเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หากฝ่าฝืนจะลงทางวินัยต่อไป

สำหรับ 11 เรือนจำที่ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด คือ เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ , เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร , ทัณฑสถานหญิงกลาง , เรือนจำกลางของเปรม , เรือนจำพิเศษธนบุรี , เรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรา , ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง , เรือนจำจังหวัดนนทบุรี , เรือนจำกลางบางขวาง , เรือนจำพิเศษมีนบุรี และเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ

ส่วนเรือนจำไม่พบผู้ติดเชื้อ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง ตั้งศูนย์บัญชาการประจำเรือนจำ หรือ ศปค.ต้องเข้มงวดเรื่องการคัดกรองตรวจโรคในผู้ต้องขังโดยทันที หากพบเชื้อให้เอ็กซเรย์ปอดทุกราย พร้อมให้ยาทันทีรักษา ให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด ไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง

แม้ว่า นายสมศักดิ์ จะอยู่ระหว่างการประคับประคองสถานการณ์ ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละเรือนจำลดน้อยลงไป จนถึงระดับคงที่ และทยอยรักษาผู้ป่วยให้หายเป็นปกติ ควบคู่ไปกับเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ทุกคนทั่วประเทศ หลังได้รับการจัดสรรจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  

แต่เชื่อว่าเมื่อ 'โควิด' ในเรือนจำจบ  'กรมราชทัณฑ์' อาจมีสะเทือน