‘ทีเอชเอ’ วอนรัฐเร่งเยียวยาโรงแรม พิษโควิดฉุดขาดทุนสะสม 13 เดือน!

‘ทีเอชเอ’ วอนรัฐเร่งเยียวยาโรงแรม  พิษโควิดฉุดขาดทุนสะสม 13 เดือน!

สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ยังคงกังวลยอดผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 รายวันภายในประเทศซึ่งมีจำนวนค่อนข้างสูงจากการระบาดระลอก 3! จนภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุม “การรวมตัวของกลุ่มคน”

โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ล่าสุดผ่อนปรนเหลือ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน ส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการใน “โรงแรม” ทำให้ไม่มีการจัดงานเลี้ยงและประชุมสัมมนา กระทบต่อรายได้โรงแรมทั้งส่วนของห้องประชุมกับห้องอาหารโดยตรง!

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างร่างข้อเสนอขอมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจโรงแรมจากภาครัฐ อาทิ 1.ขอให้รัฐช่วยผู้ประกอบการโรงแรมจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงาน “คนละครึ่ง” ภายใต้รูปแบบโค-เพย์เมนต์ ไปจนถึงเดือน ธ.ค.2564 เพื่อ “รักษาการจ้างงาน” เอาไว้ เพราะก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ภาคธุรกิจโรงแรมมีพนักงานกว่า 8 แสนคน แต่วิกฤตินี้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างหนักซึ่งปัจจุบันอยู่ใน “จุดต่ำสุด” แล้ว เหลือยอดการจ้างพนักงานโรงแรมเพียง 50% หรือคิดเป็น 4 แสนคน ซึ่งก็มีทั้งจ้างแบบไม่เต็มเวลาและขอให้ลาหยุดแบบไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) ส่วนอีก 4 แสนคนส่วนใหญ่ตกงานถาวร!

“และเมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ ก็ต้องมีการจ้างพนักงานกลับมาใหม่ เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานเหล่านี้”

2.ขอลดค่าไฟ 15% เป็นระยะเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค.2564 เนื่องจากโรงแรมหลายแห่งยังเปิดให้บริการอยู่ แต่มีรายได้เข้ามาน้อยมาก ผู้ประกอบการขาดทุนสะสมมานานกว่า 13 เดือนนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ระบาดในประเทศ! โดยจะขอให้ผ่อนชำระค่าไฟได้ ไม่คิดค่าปรับในกรณีจ่ายค่าไฟล่าช้า ขอให้ยกเว้นอัตราค่าไฟต่ำสุดและอัตราการคิดค่าไฟในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟสูงสุด (Peak Demand) หากรัฐอนุมัติลดค่าไฟจะช่วยลดต้นทุนแก่ธุรกิจโรงแรมได้เป็นอย่างมาก

3.ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวซึ่งคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา พร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย เมื่อภาคธุรกิจโรงแรมขาดทุนอย่างหนักเป็นระยะเวลานานมาก จึงอยากขอให้รัฐช่วยเหลือหรือสนับสนุนมาตรการด้านภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอื่นๆ

และ 4.ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยจากการหารือกับคณะกรรมการของสมาคมฯพบว่า แม้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเงื่อนไขให้เข้าถึงซอฟท์โลนง่ายขึ้น แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านอาหาร บริษัทเดินรถ และอื่นๆ ยังมีอุปสรรค ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ และในอนาคตอยากให้มีการจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูท่องเที่ยว” มาช่วยผู้ประกอบการในการจ้างงานที่ต้องรับคนเข้ามาใหม่ ต้องมาอบรมใหม่ รวมถึงนำเงินทุนมาปรับปรุงโรงแรมก่อนเปิด

“จากมาตรการเยียวยาที่ภาคเอกชนเคยเสนอขอไป ที่ผ่านมายังไม่มีการตอบสนองต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมโดยเฉพาะมากเท่าไร สมาคมฯจึงต้องทำเรื่องยื่นหนังสือถึงภาครัฐให้พิจารณาช่วยเหลืออีกครั้ง”

นายกทีเอชเอ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว ถ้าดูจากการล็อกดาวน์ปีที่แล้ว ถือว่าไม่หนักเท่ารอบนี้ คนใช้เวลาสักพักหนึ่งถึงจะออกเดินทาง แต่จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในปีนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่าจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน ยังคงเป็นคำถามว่าคนจะสามารถออกเดินทางกันได้เมื่อไร?!

และเมื่อสถานการณ์ระลอก 3 คลี่คลาย อยากให้รัฐพิจารณา “ลดจำนวนวันกักตัว” จากปัจจุบันอยู่ที่ 14 วันอย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเห็นได้ชัด ยอดจองห้องพักล่วงหน้าน้อยลงทันควัน! โดยอาจจะกำหนดจำนวนวันกักตัวตามเกณฑ์ใหม่ พิจารณาว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงสูงก็ได้ ดูยอดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันกับยอดผู้ได้รับวัคซีนแล้วเป็นเงื่อนไขประกอบ

ด้านตลาด “การจัดประชุมสัมมนา” ในตอนนี้ เนื่องจากภาครัฐถูกลดงบประมาณ เพื่อนำงบฯไปช่วยเยียวยาประชาชนทั่วไป หน่วยงานรัฐจะยังมีงบฯสำหรับจัดประชุมสัมมนามากน้อยแค่ไหน ก็เหมือนเป็นผลกระทบแบบ “ลูกโซ่” ต่อธุรกิจโรงแรมอีกทอด ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนส่วนใหญ่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือ Work from Home มานานกว่า 1 ปี ก็เป็นปัจจัยที่กระทบต่อตลาดการจัดประชุมสัมมนาของโรงแรมเช่นกัน

“ที่น่ากลัวคือการจัดประชุมสัมมนาในโรงแรมถูกลดขนาดลงอย่างชัดเจน ทางธุรกิจโรงแรมก็ต้องวางแผนในอนาคตกันแล้วว่าจะจัดสรรห้องประชุมอย่างไร ต้องปรับตัวในเรื่องดิจิทัล จัดงานประชุมสัมมนาแบบไฮบริด นำเทคโนโลยีมาใช้ แต่พอประเมินแนวโน้มรายได้ที่เข้ามาเมื่อเทียบกับเงินลงทุนค่าอุปกรณ์ ค่าเทคโนโลยี และค่าอบรมให้พนักงานไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ มองว่ารายได้น่าจะยิ่งน้อยลงไปอีก ตามขนาดงานที่ลดลงมากกว่า 2 ใน 3 เช่น จากขนาดงานที่เคยมีผู้เข้าร่วมประชุม 200 คน ก็จะเหลือเพียงแค่ 20 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดประชุมแบบไฮบริด ผู้เข้าร่วมประชุมที่เหลือสามารถร่วมงานผ่านช่องทางออนไลน์แทน”

เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมรู้สึก “หวั่นไหว” เหมือนกัน!!