อนาคต Cryptocurrencies

อนาคต Cryptocurrencies

จับตาอนาคต "คริปโตเคอเรนซี" (Cryptocurrencies) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ที่ปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลที่เปิดให้ซื้อขายเป็นจำนวนมากถึง 7,800 สกุลเงิน โดยส่วนแบ่งมูลค่าตลาดกระจุกตัวใน 5 สกุลหลัก Bitcoin, Ethereum, XRM, Tether, Litecoin

นับตั้งแต่ต้นปีมา ไม่มีใครไม่พูดถึงสกุลเงินดิจิทัล ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาอย่างรวดเร็วและมหาศาล โดยในกรณีของ Bitcoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมายาวนานที่สุดนั้น ราคาขึ้นมาจาก 10,764.28 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ปีที่แล้ว เป็น 63,346.79 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ปีนี้ หรือ 6 เท่ากว่าในระยะเวลาเพียง 6 เดือนครึ่งเท่านั้น!

โดยผลการศึกษาของ Crypto.com แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ได้ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค.2564 ว่ามีผู้ลงทุนในเงินดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 106 ล้านคนทั่วโลก โดยมีจำนวนคนใหม่ที่เข้ามาเฉพาะในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว เพิ่มขึ้นถึง 16%

และแม้ว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ แต่มีที่ปรึกษาทางการเงินบางรายอย่าง deVere Group พบว่าในกลุ่มลูกค้าที่อายุมากกว่า 55 ปีของบริษัท มีสัดส่วนมากถึง 70% ที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแล้ว หรือมีแผนที่จะลงทุนในปีนี้

เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา CoinMarketCap รายงานว่ามีสกุลเงินดิจิทัลที่เปิดให้ซื้อขายเป็นจำนวนมากถึง 7,800 สกุลเงิน โดย 83% ของส่วนแบ่งมูลค่าตลาดนั้นกระจุกตัวอยู่ใน 5 สกุลหลักเท่านั้น ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, XRM, Tether และ Litecoin ซึ่งเฉพาะ Bitcoin เพียงรายเดียวนั้นมีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดสูงถึง 62.6%

ก่อนหน้านี้สกุลเงินดิจิทัล มักจะถูกมองโดยนักลงทุนกระแสหลักในแง่ลบ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาใช้สกุลเงินดิจิทัลจำนวนมากมักเป็นเครือข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากการไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ และสามารถปกปิดชื่อในการทำธุรกรรมได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีสกุลเงินดิจิทัลที่มาค้นพบภายหลังว่าเป็นเพียงแชร์ลูกโซ่หลอกลวงผู้คน หรือแม้บางครั้งไม่หลอก แต่เงินดิจิทัลที่อยู่ใน Wallet ของผู้ลงทุนก็ถูกขโมย หรือหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้ โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปตามจากใคร แม้จะเป็นในประเทศที่รับรองธุรกรรมประเภทนี้ก็ตาม และยิ่งถ้าเป็นประเทศที่ไม่รับรองธุรกรรมด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะไปร้องเรียนใครให้ช่วยเหลือได้เลย

แต่ในระยะหลังบทบาทของสกุลเงินดิจิทัลเริ่มมีมากขึ้น ทั้งในแง่เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน และเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของคนทั่วไป โดยแต่เดิมนั้นสกุลเงินดิจิทัลถูกมองว่ามีความผันผวนขึ้นลงรวดเร็ว จนไม่เหมาะที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการชำระราคาสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การที่มีผู้เล่นที่อยู่ในธุรกิจการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่าง Paypal ประกาศที่จะรับเงินดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ก็ยิ่งทำให้การใช้เงินดิจิทัลแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การเข้ามาของ Paypal ทำให้การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลผ่าน Paypal นั้นง่ายดายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก Paypal จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยไม่ส่งข้อมูลที่อ่อนไหว เช่น เลขบัญชีเงินฝาก หรือเลขบัตรเงินสด (Debit Card) ให้กับบุคคลอื่น

ปัจจุบันลูกค้า Paypal สามารถลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลได้ 4 สกุลด้วยกัน ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, Litecoin และ Bitcoin Cash โดยในกรณีของ Bitcoin นั้น สามารถแลกเงินไปลงทุนได้ไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์ต่อวัน ปัจจุบันได้เริ่มเปิดให้ใช้บริการแล้วในสหรัฐ และมีอีกหลายประเทศที่จะตามมาในอนาคต

แต่ทั้งหมดนี้ ก็มิได้หมายความว่าอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหากสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาทดแทนเงินตราที่หมุนเวียนใช้กันอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็จะไม่มีเครื่องมือที่จะบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้ ส่วนรัฐบาลก็จะไม่สามารถสกัดกั้นการทำธุรกรรมผิดกฎหมายของเครือข่ายอาชญากรรมได้เช่นกัน โดยจะเห็นว่าหลายประเทศก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และเริ่มมีการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางขึ้นมา เช่น จีน และสวีเดน เป็นต้น

ในขณะที่อินเดียเตรียมที่จะออกกฎหมายห้ามการใช้สกุลเงินดิจิทัล และมีโทษปรับสำหรับผู้ที่ซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในประเทศ หรือถือสกุลเงินดิจิทัล นี่ยังไม่นับรวมความพยายามบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain Tax) ในสหรัฐ เมื่อมีการแลกเงินดิจิทัลกลับมาสู่เป็นสกุลเงินปกติ หรือนำเงินดิจิทัลมาใช้ซื้อสินค้าและบริการก็ตาม