ตรวจเสียงโหวต"กฎหมายการเงิน" ขั้วรัฐบาล-ส.ว.เสียงมากลากไป

ตรวจเสียงโหวต"กฎหมายการเงิน"  ขั้วรัฐบาล-ส.ว.เสียงมากลากไป

เมื่อรัฐบาล เตรียม ออกพ.ร.ก.กู้เงิน อีก 7 แสนล้านบาท เพราะ "โควิด-19" แน่นอนว่า การถือเสียงข้างมากในรัฐสภา ย่อมได้เปรียบ แต่รอบนี้อาจไม่ใช่ "การเห็นชอบด้วยเหมือนทุกครั้ง" เพราะ เดิมพันของส.ส. คือ ประชาชน

      นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงตอนนี้ปี 2564 ไทย ต้องเผชิญกับการระบาดที่หนักหน่วงถึง 3 ระลอก ตั้งแต่ ระลอกแรก "คลัสเตอร์สนามมวย" ระลอกสอง มาจาก"คลัสเตอร์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย-บ่อนการพนัน" และระลอกสามมาจาก"คลัสเตอร์สถานบันเทิง-ชุมชนแออัด-ที่ชุมนุมชน-เรือนจำ"

      รัฐบาล ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม” ฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระดมสรรพกำลัง ทีมแพทย์ ขอแรงนักธุรกิจร่วมสนับสนุนแก้ปัญหา รวมถึงใช้เม็ดเงินมหาศาล เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไปพร้อมๆ กับพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

      ในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาผ่านกฎหมายการเงิน รวม 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 วงเงิน 88,452 ล้านบาท และ พ.ร.บ.งบฯ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท

      โดยจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ไว้ในงบกลาง ยอดรวมอยู่ที่หลักแสนล้านล้านบาท

      และผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน อีก 1 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

      แม้ยอดการใช้จ่ายงบประมาณจะสรุปตัวเลขทั้งหมดไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ เมื่อย้อนดูการพยากรณ์ และการมองถึงปัญหา ผ่านการตรวจสอบ ด้วยการอภิปรายของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว จะพบว่า ไม่มีอะไรที่เกินกว่าความเป็นจริง!!!

ผ่านงบ 63กังขาส.ส.รัฐเสียบบัตรแทนกัน

      ไล่เรียงตั้งแต่ พ.ร.บ.งบฯ 63 ที่เกิดขึ้น คาบปีระหว่าง ปี 2562 - 2563 แม้จะออกกฎหมายล่าช้ากว่าแผน ตอนนั้นเริ่มมีเค้าลางของการระบาดโควิดให้เห็น แต่สิ่งสภาฯ ทำได้ดีในตอนนั้นคือ “ตรวจสอบนักการเมือง” ผ่านการจับผิด 3 ส.ส. ฝั่งรัฐบาล ที่เสียบบัตรแทนกัน วาระ 2 และวาระ 3 จนนำไปสู่การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

      แม้ศาลรัฐธรรมนู​ญ จะไม่สั่งให้ร่างกฎหมายเป็นโมฆะ แต่สภาฯ ต้องย้อนลงมติใหม่อีกครั้ง โดย “ส.ส.ฝ่ายค้าน” วอล์คเอาท์ ไม่รวมลงมติ ทำให้ผลลงมติ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ได้เสียงเห็นชอบ 257 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียงและงดออกเสียง 1 เสียง รวมผู้เข้าร่วมลงมติ 261 คน

      ส่วนการพิจารณาต่อเนื่องที่วุฒิสภาไม่บอกก็รู้ว่า “ผ่านฉลุย” ด้วยมติ 215 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 เสียง ใช้เวลาพิจารณาราว 1 ชั่วโมง

162144101699

ฝ่ายค้านติงพ.ร.ก.กู้เงิน1.9ล้านล้านบาท

      หลังจากนั้นคือคิวของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาฯ ใช้เวลาอภิปรายยยาว 4 วัน คือ 27 - 30 พฤษภาคม 2563 และลงมติอีกครึ่งวัน ในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งสภาฯขณะนั้น ฉายสปอร์ตไลต์พุ่งเป้าอภิปรายที่สาระของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

      สาระสำคัญที่ “ฝ่ายค้าน” อภิปราย นอกจากตั้งฉายาให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนักกู้ ลุ่มเจ้าพระยา แล้ว คือ

      ฟันธงว่าเม็ดเงินที่ใช้ทุ่มเพื่อแก้โควิด-19 นั้น คือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายได้

      แม้ต่อมา ส.ส.ฝ่ายค้าน และ พรรคประชาธิปัตย์ จะระดมกำลัง เสนอญัตติตั้งกรรมาธิการตรวจสอบ แต่สุดท้าย “พลังประชารัฐ” ใช้ฐานะเสียงข้างมาก ส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมการตรวจสอบเสียเอง

      ตามคำอภิปรายของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" ฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ฉายให้เห็นภาพของอนาคตด้วยว่า “เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่แบ่งจ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ควรใช้การเยียวยาแบบถ้วนหน้า เพราะการคัดกรองจะทำให้เกิดปัญหาเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมาก ยิ่งไม่ครอบคลุม คนเดือดร้อนไม่ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ฝ่ายค้านขอให้การใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ใช้เพื่อเป็นแหล่งทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ​

162144115058

      นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำพยากรณ์ของอดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ด้วยว่า การกู้เงินของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจติดลบ และประชาชนแบกรับภาระหนี้สินมากเกินความจำเป็นในอนาคต

ขั้วรัฐโหวตเอกฉันท์ผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน

      สำหรับผลการลงมติต่อพ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ ส.ส. 274 คน ซึ่งเป็นฝั่งรัฐบาลเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ส่วนส.ส.ฝ่ายค้าน 207 คน งดออกเสียง เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า “ไม่ยินยอม แต่ก็ไม่ขวาง”

      ขณะที่ พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มติของ สภาฯ เห็นด้วย 275 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 คน งดออกเสียง 205 เสียง

      พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ผลลงมติเห็นด้วย 274เสียง ไม่เห็นด้วย 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ซึ่งรอบนี้ ส.ส. กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย

162144050814

ส.ว.ไฟเขียวเสียงไม่แตกแถว

      เมื่อพ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ถูกส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา สำหรับผลการลงมติคือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส.ว.ข้างมาก 241 เสียงเห็นชอบ และ งดออกเสียง 4 เสียง , พ.ร.ก.ซอฟต์โลน มีมติเห็นชอบ 243 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน มติเห็นชอบ 242 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

      ทั้งนี้ ส.ว. มีข้อเสนอถึงรัฐบาลด้วยว่า “การใช้เงินกู้ต้องทำให้ตรงเป้า ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ใช่ใช้เหมือนปืนฉีดน้ำที่ฉีดเรี่ยราด และงบรั่วไหล"

250เสียงผ่านพ.ร.บ.โอนงบปี63ช่วยโควิด

      ต่อมาคือ กลางเดือนมิถุนายน 2563 “รัฐบาล” ส่ง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 วงเงิน 88,452 ล้านบาท เข้าสู่สภาฯ โดยกำหนดอย่างเจาะจงไว้ในเหตุผลคือ “เพื่อแก้ไขการระบาดของโควิด-19 ที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินซึ่งตั้งไว้ 9.6หมื่นล้านบาทแต่ไม่พอ"

      รอบนั้นผลการลงมติผ่านไปได้ด้วยเสียงข้างมากเห็นด้วย 250 เสียง และมีไม่เห็นด้วย 6 เสียง และงดออกเสียง 178 เสียง

      แน่นอนว่าเสียงที่งดนั้นคือ กลุ่มของพรรคฝ่ายค้าน หลังจากอภิปรายในสาระของเนื้อหาที่สรุปย่อได้ว่า “ไม่ขัดที่จะใช้เงินส่วนนี้เพื่อแก้ปัญหา แต่ตำหนิการบริหารงานของรัฐบาล และการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ตอบโจทย์ โดยเฉพาะที่ยังคงงบด้านความมั่นคงไว้สูง เมื่อเทียบกับการหั่นงบจากกระทรวงด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ”

      ส่วนส.ว. นั้นเห็นด้วยไม่มีแตกแถว ด้วยคะแนนเห็นด้วย 215 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

พ.ร.บ.งบฯ ปี 64ผ่านฉลุย

      และในท้ายปี 2563 ช่วงเดือนพฤศจิกายน สภาฯ พิจารณาเห็นชอบ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2564วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ด้วยเสียง เพียง 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 60 เสียง งดออกเสียง 121 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง

      ในรอบนั้น สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เริ่มซาจากการระบาดระลอกสองแล้ว แต่การอภิปรายโดยรวมยังคงเป็นเหมือนการเล่นเกมดิสเครดิตในสภาฯ ผ่านการชำแหละงบประมาณของฝ่ายความมั่นคง ที่แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

      ฝั่ง ส.ส. ที่งดออกเสียงนั้นคือ กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ เว้นแต่ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร และ พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ที่ลงมติเห็นด้วย ซึ่ง ทั้ง 2 คนถูกตราหน้าว่าเป็น “งูเห่าฝ่ายค้าน” ก่อนจะมีอีกหลายคนในพรรคฝ่ายค้านเร่ิมทยอยเปิดหน้าออกมา

      หลัง “ส.ส.” ลงมติเห็นชอบ ต้องส่งให้ “วุฒิสภา” พิจารณา แน่นอนว่า เสียงเห็นชอบย่อมเป็นเอกฉันท์ 217 เสียง หลังจากใช้เวลาพิจารณากว่า 5 ชั่วโมง

      ในการอภิปรายของส.ว. นั้น มีการตั้งข้อสังเกตจาก "พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์” ที่มองไม่เห็นการตั้งงบฯ เพื่อซื้อวัคซีน พร้อมเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจได้ทุ่มเงินเพื่อซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัทเอกชนที่ดำเนินการวิจัยและผลิตวัคซีน พร้อมประเมินเม็ดเงินที่จะใช้เพื่อวัคซีนมากถึง 2.4 แสนล้านบาท

      “แม้ประเทศไทยสามารถป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี แต่การป้องกันดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากห้ามบุคคลภายนอกเข้าประเทศ เลิกการจ้างงาน ซึ่งมีผลกระทบและเสียหายต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่แก้ปัญหาสำคัญคือ ต้องเร่งให้มีวัคซีน” พล.อ.นาวิน อภิปรายในวันนั้น

พ.ร.ก.กู้เงิน7แสนล.-วัดเสียงรัฐบาล

      หากย้อนไปดูการอภิปราย เสนอความเห็นไล่เลียงมาถึงปัจจุบัน ยิ่งเห็นภาพความแจ่มชัดของการจัดสรรงบที่ไม่เหมาะเมื่อเทียบกับการบริหาร ที่ฝ่ายค้านและภาคส่วนสังคมมองว่า การบริหารของรัฐบาล ชุดปัจจุบัน คือสาเหตุของการแก้ไขที่ล้มเหลว

162144081675

      แม้การโหวตร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินที่ผ่านมา เสียงของ ส.ส.ขั้วรัฐบาลจะค่อนข้างเป็นเอกภาพ แต่ในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทครั้งนี้ ต้องจับตาดูว่าเสียงของขั้วรัฐบาลจะเป็นเอกภาพเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะแรงต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีให้เห็นในหลายโครงการ แถมการบริหารงานแบบรวบอำนาจ ยังสร้างแผลในใจให้ “รัฐมนตรี” พรรคร่วมรัฐบาล

      ที่สำคัญการเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาท หากรัฐบาลไม่ปรับวิธีคิด วิธีแก้ปัญหา สุดท้ายเศรษฐกิจประเทศจะจมไปกับกองหนี้ และประชาชนคือผู้รับกรรม.