สนค.ชี้ไทยผลิตสินค้าอาหารเสริม-วิตามิน ป้อนตลาดโลกหลังโควิด19

สนค.ชี้ไทยผลิตสินค้าอาหารเสริม-วิตามิน ป้อนตลาดโลกหลังโควิด19

สนค.เผยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก หันมาสนใจสุขภาพ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มมากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทยใช้จุดแข็งการเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ผลิตสินค้าป้อนความต้องการ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารเสริมและวิตามินทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย (Immune System) จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทย จะใช้จุดแข็งของสมุนไพรไทย บวกกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการวิจัยเพิ่มเติม ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงอาหารเสริมต่างๆ ของไทย เพื่อขยายตลาดต่างประเทศและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก

ทั้งนี้ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีผลวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคของบริษัท Mintel ยืนยันว่า ผู้บริโภคในทวีปยุโรป ให้ความสำคัญกับการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมังสวิรัติ (Vegan) และมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย (Low Lactose) ในขณะที่ผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือ เน้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สารตกแต่งพันธุกรรม (GMO Free) และผู้บริโภคในทวีปเอเชียนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและปราศจากสารปรุงแต่ง โดยผู้บริโภคทั่วโลกยังคงนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากที่สุด รองลงมา คือ แบบเม็ด แบบผง และแบบน้ำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ มีฉลากชัดเจน และมีความโปร่งใสตรวจสอบในที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ได้ โดยผู้บริโภคทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมและวิตามินที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากกว่าที่ใส่สารปรุงแต่ง และผู้บริโภคชาวอเมริกัน  27% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นเป็นอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง (whole food ingredients) และ 35 %ต้องการทราบที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์

สำหรับแนวโน้มอาหารเสริมและวิตามินในอนาคต ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญมี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 70% ต้องการอาหารเสริมหรือวิตามินที่สามารถปรับสมดุลในร่างกายเพื่อช่วยในการนอนหลับและลดความเครียด โดยเน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคภายในช่องปาก และช่วยรักษาผิวพรรณ 2.ความกังวลกับโรคอุบัติใหม่และปัญหาสุขภาพ (New and emerging health concerns) โดยผู้บริโภคชาวอเมริกัน 35% จะเลือกซื้อสินค้าที่สร้างภูมิคุ้มกันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มทดแทน ผู้บริโภคชาวไทย 47% ของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มเติม จะหาซื้อในรูปแบบอาหารและเครื่องดื่ม และ 63% จะนิยมเครื่องดื่มบำรุงสายตา ในขณะที่ ผู้บริโภคชาวเยอรมัน อายุระหว่าง 55-64 ปี 41% นิยมรับประทานในรูปแบบของโยเกิร์ต

3.การผสมผสานกับอาหารและเครื่องดื่ม (Align with food and drink) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินที่มาจากพืชและโปรตีนทางเลือกจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย 24%     ให้ความสำคัญต่อการเลือกอาหารที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้บริโภคในยุโรป 45%    เชื่อว่าการรับประทานอาหารจากพืช (plant-base) ส่งผลดีต่อร่างกาย และผู้บริโภคชาวโปแลนด์และฝรั่งเศส     34% และ 35% ตามลำดับ นิยมรับประทานเครื่องดื่มจากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองและโยเกิร์ตที่มาจากพืชมากกว่าสัตว์ 4.การผสมผสานกับความสวยความงาม (Beauty Benefit) กรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) ได้รับความนิยมสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดเลือนริ้วรอยและให้ความชุ่มชื้นต่อผิว โดยพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 51% ให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้ผิวพรรณดีขึ้น และผู้บริโภคชาวจีน ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใส่อาหารเสริมและวิตามินในน้ำผลไม้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าในประเทศจีนเริ่มมีการนำกรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) มาผลิตเป็นอาหารเสริมในรูปแบบเยลลี่และเครื่องดื่ม ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

5.การมีฉลากที่ชัดเจนและความโปร่งใสที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ (Clean label and transparency) ผู้ผลิตสินค้าจะต้องให้ความสำคัญกับฉลากที่ชัดเจนทั้งห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ และฉลากที่บ่งบอกลักษณะสินค้าที่สำคัญ เช่น วัตถุดิบทำจากพืช (plant-based ingredient) สินค้าออแกนิก (Organic) ปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO-free) ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ (Allergy free) หรือไม่ใส่สารกันบูด (no preservatives) เป็นต้น

ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ในปี 2563 มีสถิติการส่งออกอาหารเสริมและวิตามิน (พิกัดศุลกากร 2936) ปริมาณ 1,616.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 794.27 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและเมียนมา รวมสองประเทศคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออกอาหารเสริมและวิตามินทั้งหมด ส่วนการนำเข้าอาหารเสริมและวิตามินปริมาณ 11,942.02 ตัน มูลค่า 5,504.93 ล้านบาท โดยนำเข้าจากจีนถึง 40% รองลงมา ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ 18.9 % ฝรั่งเศส 15.4 % และเยอรมนี  15.3%