'โตโยต้า-ฮอนด้า'เห็นต่างรถอีวี-ไฮบริดปล่อยไอเสีย

'โตโยต้า-ฮอนด้า'เห็นต่างรถอีวี-ไฮบริดปล่อยไอเสีย

'โตโยต้า-ฮอนด้า'เห็นต่างรถอีวี-ไฮบริดปล่อยไอเสีย ขณะที่โตโยต้ากล่าวว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ทรงพลังหลากหลายรูปแบบทั้งไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด เซลล์เชื้อเพลิงและรถไฟฟ้า

ในการประชุมเพื่อประกาศรายได้ตลอดจนเปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวด้านต่างๆจากค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่าค่ายรถญี่ปุ่นมีแนวนโยบายเกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้าที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีไฮบริดในขณะที่ตอนนี้ทั่วโลกออกมาตรการเข้มงวดด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของโลกร้อน และส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งคัน

โตโยต้า มอเตอร์ ตั้งเป้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 8 ล้านคันในปี 2573 โดยสามในสี่ส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านี้เป็นรถไฮบริดหรือไม่ก็รถปลั๊กอินไฮบริดและที่เหลือเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่หรือไม่ก็เซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ ให้เหตุผลว่ารถไฮบริดยังคงสนับสนุนเรื่องการลดการสร้างคาร์บอน หรือการใช้พลังงานที่ปลอดการสร้างคาร์บอนเมื่อเทียบกับปัญหาท้าทายของรถอีวีตั้งแต่ราคาสูงไปจนถึงการมีสถานีชาร์จแบตเตอรีไม่เพียงพอ

ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ ระบุเมื่อเดือนเม.ย.ว่าจะผลิตรถอีวีและรถยนต์ที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงในปี 2583 กลายเป็นค่ายรถญี่ปุ่นรายแรกที่ประกาศเลิกผลิตรถยนต์กินน้ำมันอย่างชัดเจน

แต่บรรดานักวิเคราะห์มีความเห็นต่างกันว่าแนวทางไหนจะเป็นจริงและให้ผลในทางปฏิบัติได้มากกว่ากัน แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะตั้งเป้าทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เป็นศูนย์เปอร์เซนต์ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้

162138680516

โตโยต้า คาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีงบการเงินนี้ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปี 2565 จะอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านเยน (22,900 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 13.8% ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการขาดแคลนชิพที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแต่อุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น ส่วนฮอนด้า ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะชดเชยผลกระทบเชิงลบจากปัญหาขาดแคลนชิพได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี คาดการณ์ว่า กำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 660,000 ล้านเยน ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะผลพวงจากความพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานที่บริษัททำติดต่อกันมาหลายไตรมาส

"ในขณะที่มีความพยายามลดการสร้างคาร์บอน หรือใช้พลังงานที่ปลอดการสร้างคาร์บอน โตโยต้าก็สร้างรากฐานเทคโนโลยีที่หลากหลายและพยายามรักษาความยืดหยุ่นเอาไว้ในฐานะค่ายรถยนต์ แต่คำถามคือโตโยต้าจะตอบสนองคลื่นแห่งความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างไร ขณะที่แนวโน้มด้านเทคโนโลยีและความเห็นของสาธารณะชนในอนาคตยังคงเป็นเรื่องไม่สามารถยืนยันได้ "โคอิชิ ซูกิโมโตะ นักวิเคราะห์อาวุโสจากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนเลย์ ซิเคียวริตี้ส์ ให้ความเห็น

จริงๆแล้ว โตโยต้าย้ำว่าไม่ได้จำกัดวิธีการที่จะบรรลุเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนศูนย์เปอร์เซนต์ “สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ไม่ใช่การผลิตรถไฟฟ้าแต่เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนศูนย์เปอร์เซนต์ภายในปี 2593 และในขั้นตอนนี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การจำกัดด้านเทคโนโลยี แต่เป็นความพยายามใช้เทคโนโลยีทางเลือกให้หลากหลายขึ้น”จุน นากาตะ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารของโตโยต้า กล่าวในการประชุมด้านผลประกอบการของบริษัทเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

โตโยต้า ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดในตลาดรถยนต์โลกเมื่อปี 2540 ด้วยรถรุ่นพริอุส กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ทรงพลังหลากหลายรูปแบบทั้งไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด เซลล์เชื้อเพลิงและรถไฟฟ้า

ที่ผ่านมา ทั้งโตโยต้าและค่ายรถอื่นๆในประเทศทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าชั้นนำของโลก และเมื่อปี 2562 โตโยต้าประกาศว่าจะทำยอดขายรถไฮบริดและรถที่ใช้พลังงานอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันให้ได้จำนวนกว่า 5.5 ล้านคันภายในปี 2568 โดยมีรถไฮบริดเป็นแกนนำ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเทคโนโลยีปลอดคาร์บอนของโตโยต้า อาจถูกขยายความโดยกระแสกังขาเกี่ยวกับการพึ่งพารถยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ปักกิ่งจำเป็นต้องเพิ่มเงินอุดหนุนรถยนต์พลังงานใหม่ เช่น อีวี เนื่องจากยอดขายลดลงในปี 2562 หลังรัฐลดเงินอุดหนุน ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) มียอดขายอีวีเพิ่มขึ้นในปี 2563 แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผลจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลและกฎจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ขณะที่ “โตชิฮิโร ไมเบะ” หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทฮอนด้า ระบุว่า บริษัทเริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ปลอดคาร์บอนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

“เพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากรถใหม่ที่ถูกวางจำหน่ายในตลาดในปี 2583ต้องลดลงเหลือศูนย์เปอร์เซนต์ด้วย และถ้าหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มขึ้น ก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์”ไมเบะ กล่าว

แต่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา รวมถึงการทำยอดขายรถประเภทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้เวลาด้วย โดยฮอนด้า เปิดตัวรถอีวีคันแรกที่เรียกว่า “ฮอนด้า อี” เมื่อปีที่แล้วในญี่ปุ่นและยุโรปแต่วางแผนจัดจำหน่ายแค่ 10,000 คันในยุโรปและปีละ1,000 คันในญี่ปุ่น ถือเป็นตัวเลขอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับที่ฝ่ายจัดจำหน่ายของบริษัทคาดการณ์ว่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 5 ล้านคันในปีงบการเงินนี้