กสศ. วุฒิสภา ทีดีอาร์ไอ และภาคี ระดมสมองรับเปิดเทอมใหม่

กสศ. วุฒิสภา ทีดีอาร์ไอ และภาคี ระดมสมองรับเปิดเทอมใหม่

กสศ. วุฒิสภา ทีดีอาร์ไอ และภาคี ระดมสมองรับเปิดเทอมใหม่ เสนอแนวทางจัดการศึกษากลับด้าน ให้อิสระโรงเรียนจัดการตามบริบทพื้นที่ แนะลดความเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีนครูก่อนเปิดเทอม พร้อมใช้ “ฐานข้อมูล”ออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำตรงจุด ชูอสม.การศึกษาตัวช่วยครู

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีพันธมิตร วุฒิสภา TDRI The Reporters และ The Active Thai PBS จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม: สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึงในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.. 2564 โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นการศึกษาแบบ New Normal ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เพื่อร่วมกันแบ่งปันการทำงานในการศึกษาปัญหาและหาทางออกให้กับเด็กยากจน เด็กยากจนพิเศษ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงสัญญานอินเตอร์เน็ตได้ พร้อมตัวแทนคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้มาร่วมแบ่งปันนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด ที่ใช้ได้ผลสำเร็จจากประสบการณ์จริง

  162135340748

นายตวง อันทะไชย ประธานกรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า ทาง กมธ.ได้ลงไปทำวิจัยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการศึกษา พบว่าในรอบที่ 3 สาหัสมาก หนึ่งในข้อเสนอคือควรให้เกิดการจัดการศึกษาได้ตามสภาพจริงบางพื้นที่วิกฤตแต่บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงควรให้พื้นที่ที่ไม่มีโควิด-19 ระบาด จัดการเรียนได้เต็มหลักสูตรเต็มเวลา โดยยึดหลักควบคุมโรคระบาด ตามาตรการวัดไข้ รักษาระยะห่าง ใช้เจลล้างมือ และต้องทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่ายคือ 1.กระทรวงมหาดไทย 2.กระทรวงสาธารณสุข และ3.กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ การจัดการศึกษาในพื้นที่บนเขา เกาะ ชนบท มีเทคนิคจัดการศึกษาที่แตกต่างกันควรนำวิธีเหล่านั้นมาถอดบทเรียนเพื่อจัดการเรียนการสอน อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่าการบริหารจัดการการศึกษาที่สั่งการจากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้สถานศึกษาควรจะเป็นคนกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนและส่งขึ้นมาให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้เห็นความแตกต่างหลากหลายไม่ต้องเหมือนกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณและมาตรการช่วยเหลือ

 

นายตวง กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญควรมีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่นำมาถอดเป็นบทเรียนชุดความรู้ ที่เกิดการมีส่วนร่วมจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อในอนาคตไม่ว่าจะเกิดวิกฤตรอบที่สี่รอบที่ห้าก็สามารถรับมือได้ โดยเชื่อมโยงทั้งพื้นที่ สถานศึกษา อสม.ว่าจะต้องจัดการศึกษาอย่างไร  อีกทั้ง บทเรียนที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ DLTV มีปัญหาอะไรบ้างนั้นยังมีอุปสรรค ทักษะบางอย่างเรียนออนไลน์ไม่ได้ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ต้องเป็นแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ไปจนถึงมีกระบวนการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาอารมณ์ สติปัญญา อีกทั้งหลังโควิด-19 อาจจะเป็นการสิ้นสุดของโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กลายเป็นโรงเรียขนาดพอดี เพื่อสามารถควบคุมดูแล รักษาระยะห่างในชั้นเรียนได้ ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องหยุดเรียน ไม่ลืมบทเรียน ไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

 

“ที่สำคัญคือบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการต้องปรับใหม่ ต้องไม่ใช้การสั่งการแต่ใช้การสร้างแรงจูงใจบุคลากรทางการศึกษา และอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ที่มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลว่าควรมีการจัดสรรงบพิเศษ ไม่ใช่ให้โรงเรียนไปหักจากงบเดิมที่ใช้ไม่พออยู่แล้ว อีกทั้งควรมีกระบวนการให้โรงเรียนที่พร้อมเปิดเปิดเรียนได้ โดยมีความเป็นเอกภาพทางนโยบายแต่ หลากหลายทางปฏิบัติโรงเรียนไหนพร้อมก็เปิดก่อนได้เลยไม่ต้องรอพื้นที่อื่น และควรจะได้นำแนวคิดที่ผ่านมาไปต่อยอดนวัตกรรมจัดการศึกษาต่อไป” นายตวง กล่าว

 

แนะใช้ “ฐานข้อมูล”ออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในช่วงที่กำลังจะเปิดเทอมในวันที่ 1 มิ..นี้  ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การทำงานบนฐานข้อมูลรายบุคคล รายโรงเรียน และรายพื้นที่ ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้มองเห็นสถานการณ์หน้างานจริง สามารถออกแบบมาตราการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE ช่วยทำให้เห็นภาพจริงในปัจจุบันของเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ครัวเรือนมีรายได้น้อยที่สุด 20 % ล่างของประเทศ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กสศ. พบว่าประชากรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีบริบทความยากลำบากที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการที่หลากหลายและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาวะวิกฤตโควิท-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลสูงได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีสถานศึกษามากถึง 510 แห่งที่มีนักเรียนยากจนพิเศษ 100% ทั้งโรงเรียน โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด 5 อันดับแรก

ได้แก่ แม่ฮ่องสอน  นราธิวาส ปัตตานี  ยะลา ตาก นอกจากนั้นข้อมูลระบบ iSEE ยังชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Stand Alone) มากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังต้องการการพัฒนาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นที่หลายด้านเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 นี้ ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีสถานศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้มากที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และแพร่  ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานศึกษาที่ยังไม่มีอินเทอเน็ตใช้จำนวน  255 แห่ง กระจายตัวอยู่ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มากที่สุด เป็นต้น

162135393684

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปีการศึกษา 2563 ยังมีพื้นที่กว่า 78 ตำบล ที่ไม่มีโรงเรียนอยู่ในตำบลแล้ว ทั้งที่ในท้องถิ่นเหล่านี้ยังมีเด็กวัยเรียน 4,580 คนที่ต้องข้ามตำบลไปเรียน และบางคนที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังมีเด็กวัยการศึกษาภาคบังคับ (6-14 ปี) มากกว่า 4 แสนคนที่ยังไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบการศึกษา นอกจากนั้น จากการสำรวจสภาพความพร้อมเรียนรู้ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 พบความแตกต่างระหว่าง นักเรียนในครอบครัวฐานะดีร้อยละ 20 อันดับแรก สามารถเข้าถึงโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ในพื้นที่เรียนรู้แบบส่วนตัว มากถึงร้อยละ 90 ในขณะที่นักเรียนในครอบครัวยากลำบากที่สุดร้อยละ 20 ลำดับ ล่าง  โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมีเพียงร้อยละ 10     

บทเรียนจากการทำงานของ กสศ. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลถือเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีศักยภาพสูง การมีข้อมูล ช่วยให้เรามองเห็น สถานการณ์จริงพื้นที่ ได้ยินเสียงจากในพื้นที่ และทำให้ช่วยเหลือตรงจุด อีกทั้งการมีข้อมูลยังสามารถแชร์ ข้อมูลเหล่านี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนและสุดท้ายการมีข้อมูลจะเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่มาจากปัญหาหน้างานจริง จากคนทำงานจริง ซึ่งไม่ใช่แค่การทำงานในวันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้เท่านั้นแต่ยังรวมถึงปีต่อๆ ไป  การทำงานบนฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสูง จากหน้างานจริงจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามีการศึกษาที่เสมอภาคได้ในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าว

แสกนพื้นที่ทำความเข้าใจปัญหาออนไลน์และการศึกษาที่เข้าไม่ถึงเด็ก

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดการศึกษามีความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงเด็กบางกลุ่ม ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่วนหนึ่งคือ เวลา เนื่องจากโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ตามกำหนด การจัดการเรียนการสอนทำตามปกติไม่ได้ ยิ่งตอกย้ำให้บางโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาต้องลดเวลาเรียนลง เด็กจึงเข้าถึงหลักสูตรได้ไม่ครบถ้วน ค่าเฉลี่ยของปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องลดเวลาเรียนจาก 200 วันเหลือราว 180 วัน หายไปประมาณ 10% และจากบทเรียนในการจัดการศึกษาแบบ 4 อ. คือ ออนไลน์ ออนแอร์ สอนผ่าน DLTV ออนแฮนด์ ให้ครูเดินทางไปแจกใบงานในพื้นที่ และออนไซต์ คือให้เด็กสลับวันเข้ามาเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พบว่ายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะรับผลกระทบมากที่สุด นั่นทำให้เห็นว่าหากแก้ปัญหาเพียงเฉพาะหน้าโดยไม่เปลี่ยนวิธีการสอน เวลาที่มีอยู่จะไม่พอกับการเรียนรู้เนื้อหาทั้งหมด   ดังนั้นการจัดการศึกษา นอกจากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์แล้ว ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เพื่อผลการศึกษาในระยะยาว หมายถึงการเรียนในภาวะวิกฤตที่เด็กจะยังได้ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นรอบด้าน คือต้องมีการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ใช้เวลาเรียนน้อยลง และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่อยู่นอกโรงเรียนได้เต็มที่

  162135329460


อย่างไรก็ตาม
นายพงศ์ทัศ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่ มาตรการระยะสั้นคือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เร็วที่สุด ก่อนเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เริ่มในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งคือต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน เช่นคำแนะนำทางการแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละคนก่อนการรับวัคซีน และต้องมีมาตรการชดเชยกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีนร่วมด้วย เชื่อว่าถ้ามาตรการเหล่านี้สื่อสารไปถึงทุกโรงเรียนได้ชัดเจน ก็จะทำให้ครูมีคความมั่นใจเพิ่มขึ้น  

 

ในมุมของผู้ที่ทำงานในพื้นที่ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า สภาพปัญหาของโรงเรียนพื้นที่สูง  มักพบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมชนเผ่า โดยพบโรงเรียนที่มีปัญหาทั้งสิ้น 1,190 โรงเรียน แบ่งเป็น ปัญหายุ่งยากมาก 259 โรง ยุ่งยากปานกลาง 565 โรง และยุ่งยากน้อย 366 โรง กระจายตัวอยู่ตามเขตชายแดน ไล่ตั้งแต่จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก และกาญจนบุรี ซึ่งพบว่านักเรียนหลายคนไม่สามารถเรียนออนไลน์ หรือเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ได้ สำหรับคุณครูที่เข้าไปในพื้นที่ก็พบกับความลำบาก มีพื้นที่เป็นภูเขาชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง บางครั้งชุมชนก็ไม่ไว้ใจครู เพราะเป็นคนแปลกหน้ากลัวว่าจะนำโควิด-19 เข้าไปติดเด็กๆ

 

โรงเรียนและการเรียนที่ต้องเปลี่ยนไป

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิทยบริการ ม.ศรีปทุม ชลบุรี กล่าวว่า การจัดการศึกษาในช่วงหลังการเกิดวิกฤต COVID-19 จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างแรกคือวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปทำให้คนเดินทางน้อยลง สื่อสารกันลดลง การวัดผลการศึกษาที่จากเดิมที่เน้นเรื่องศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่สถานประกอบการขนาดใหญ่ข้ามชาติ จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ที่ทำแบรนด์ท้องถิ่น เน้นการสร้างอาชีพใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ผลที่ตามมาคือความคาดหวังเรื่องผลลัพธ์ทางการศึกษาจะมุ่งเน้นที่เรื่องความคิด ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต ทักษะสังคม และการเป็นนักเรียนรู้เชิงรุกตลอดชีวิต

“เราจะไม่ยึดโยงกับโรงเรียนอีกแล้ว กระบวนการเรียนรู้จะไม่เป็นรายวิชาอีกต่อไป แต่จะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ ลงไป โรงเรียนจะลดความสำคัญลง การเรียนตามอัธยาศัยหรือการศึกษาทางไกลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ การเรียนจะพึ่งพิงกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัญหา สำหรับบทบาทของครูก็จะเปลี่ยนเป็นผู้แนะนำและประสานงานแทน” รศ.ดร.ธันยวิชกล่าว

 

ครูเคลื่อนที่ - อสม.การศึกษา- ครูหลังม้า นวัตกรรมการเรียนการสอนจากโควิด- 19

ในการเสวนาออนไลน์ยังได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยก้าวข้ามข้อจำกัดของพื้นที่ มีการผสมผสานการสอนทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ บางพื้นที่มีอาสาสมัครการศึกษา ที่อยู่ในชุมชนเข้าไปช่วยเสริมการเรียนการสอน เช่น ศิษย์เก่า รุ่นพี่และปราชญ์ รวมไปถึงการระดมความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่ในเขตชายแดนจังหวัดตาก มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านกระจายเป็นหย่อม ที่ผ่านมาในสถานการณ์ COVID-19 แต่ละระลอก ได้ลองจัดการศึกษาตามนโยบายแต่ไม่ได้ผลดีนัก จึงคิดค้นวิธีแก้ปัญหาหลายรูปแบบ ทั้งให้เด็กพื้นที่ห่างไกลมาพักนอนและเรียนที่โรงเรียน จัดครูเคลื่อนที่เข้าไปสอนตามหมู่บ้าน รวมถึงคัดเลือกและมอบหมายให้ ‘พี่ครู’ ทำหน้าที่สอนน้อง ๆ ในหมู่บ้าน  

162135379082  

โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จ.ราชบุรี ใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบหย่อมบ้าน แบ่งออกเป็น 7 หย่อม ใช้พื้นที่ศาลาวัด โบสถ์คริสต์  ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้าน เพื่อแยกนักเรียนไม่ให้มารวมตัวกันมากเกินไป ลดการแพร่ระบาด มีการประสานความร่วมมือกับทั้งผู้นำชุมชน อบต. นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ผู้นำศาสนา พร้อมทั้งมีครูอาสา ที่เป็นทั้ง ศิษย์เก่า ปราชญ์ชาวบ้าน คนในท้องถิ่น มาช่วยสอนเด็ก ๆ บางส่วนมีค่าตอบแทน บางส่วนไม่มีค่าตอบแทน เกิดการเชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการต่อยอด เรียนรู้จากแหล่งเรียนในชุมชน

โรงเรียนล่องแพวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนกระจายอยู่ตามเขาสูงทุรกันดาร ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต คนในพื้นที่รายได้น้อย ทำให้ 100% เข้าไม่ถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์  ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จึงเกิดโครงการครูหลังม้าที่เป็นนวัตกรรมในอดีตของแม่ฮ่องสอนซึ่งเปลี่ยนจากม้าเป็นมอเตอร์ไซค์บรรทุกสื่อการสอนไปตามพื้นที่แบบคละชั้น

 

162135355126

นายประหยัด อุสาห์รัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยนกกก.ตาก กล่าวว่า สำหรับวันเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง ทางโรงเรียนได้มีมาตรการเตรียมพร้อมโดยให้ครูทุกคนกักตัว 14 วัน ส่วนนักเรียนให้กักตัวอยู่ที่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกแห่งต้องรู้และสามารถประเมินภาวะความเสี่ยงในพื้นที่ โดยแจ้งข้อมูลบุคลลเข้าออกหมู่บ้านให้ทางโรงเรียนทราบ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ในรูปแบบใด หากยังเปิดเรียนเต็มรูปแบบไม่ได้ การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีครูเคลื่อนที่ การสอนแบบเว้นระยะห่างที่โรงเรียน และระบบพี่ครู ก็จะนำมาใช้ต่อไป

  162135350162

ด้านนายสยาม เรืองสุขใสย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาปลดล็อค ทั้งระเบียบการจัดซื้อหนังสือ เพื่อให้สามารถใช้นำมาจัดทำแบบฝึกให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษา รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ที่มีการวัดผลต่างออกไป เน้นการวัดผลตามสภาพจริงไม่ได้ยึดตามตัวชี้วัดแต่ยึดสาระที่คิดว่าสำคัญ ดูจากสภาพจริง ชิ้นงาน พัฒนาการผู้เรียน และให้พิจารณาการเปิด-ปิดสถานศึกษาตามความพร้อม หากพื้นที่ไหนพร้อมก็ให้เปิดออนไซต์  ซึ่งจะดีกว่าเรียนอยู่ที่บ้าน เรียนได้เต็มที่และใช้มาตรการควบคุมารระบาด  รวมทั้งอยากให้มีการสนับสนุนเรื่องเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และค่าใช้จ่ายเช่นเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ให้กับบุคลากรที่ต้องลงพื้นที่