สูงวัย รายได้น้อย ความท้าทายของสังคม

สูงวัย รายได้น้อย ความท้าทายของสังคม

การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุที่รายได้น้อยกว่า 40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังต้องทำงานโดนผลกระทบ การแก้ปัญหาระยะยาวจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของสังคมเวลานี้

การล็อคดาวน์ในช่วงปีที่ผ่านมาสืบเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้ผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย “ดร.ณปภัช สัจนวกุล” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิล กล่าวว่า จากการสำรวจ ผลกระทบด้านสังคมต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย พบว่า ในประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11,136,059 คน (ข้อมูลปี 2562) ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4,4991292 คน หรือ 34% ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ (14.5 ล้านคน)

ทั้งนี้ การสำรวจระหว่าง ต.ค. -พ.ย. 63 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ จำนวน 808 ราย ทั้งกทม. และต่างจังหวัด อายุเฉลี่ย 70.4 ปี พบว่า ส่วนใหญ่อาศัยกับครอบครัวกว่า 61% อาศัยอยู่เฉพาะกับผู้สูงอายุด้วยกัน 15.2% และ อาศัยตามลำพัง 12.4%

กลุ่มตัวอย่างมีโรคประจำตัวกว่า 74.3% ทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน โดยส่วนใหญ่มีสิทธิในระบบบัตรทอง 86.5% จากการล็อคดาวน์ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบด้านจิตใจและมีความสัมพันธ์ต่อปัญหาด้านรายได้และการทำงาน โดยกว่า 78.5% ไม่มีวิธีการรับมือและจัดการความเครียดของตนเอง

ทั้งนี้ แม้จะอยู่ในวัยสูงอายุ แต่กว่า 40% ยังต้องทำงานเพื่อหารายได้ และกว่า 40.7% ยังเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น จากการะบาดของโควิด 19 ทำให้ทุกอย่างชะงักงัน ผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งถูกลดงาน พักงาน และเลิกจ้าง โดย 62.5% รายได้ลดลงในช่วงล็อคดาวน์ และ 32.9% มีรายได้ลดลงแม้จะอยู่ในช่วงเปิดเมือง

ขณะเดียวกัน กว่า 99.3% ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ได้รับและยังคงพึ่งพาเงินรายได้จากเบี้ยยังชีพสูงอายุ โดย 98.9% ใช้สิทธิของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ร้านธงฟ้า ประชารัฐ โดยมีอีกหลายสิทธิประโยชน์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังไม่ทราบว่ามีหรือไม่เคยใช้ ได้แก่ ส่วนลดก๊าซหุงต้ม ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า รถบขส. และค่ารถไฟ

93.1% ของกลุ่มตัวอย่าง ได้รับเงินช่วยเหลือผ่านโครงการเยียวยา ผลกระทบโควิด 19 ของรัฐ ได้แก่ 51.1% ได้รับเงินจำนวน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จากกระทรวงการคลัง และ 42% ได้รับเงิน 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ดร.ณปภัช กล่าวว่า โควิด 19 เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั่ว วิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้น ยิ่งสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่สะสมเวลานาน การเข้าถึงบริการของภาครัฐ ของผู้สูงอายุรายได้น้อย ไม่ว่าจะก่อน ระหว่าง หรือ หลังโควิด 19 ภาครัฐอาจจะทบทวนว่าในระหว่างที่เราช่วยเหลือมุ่งเป้าในสถานการณ์โควิด 19 นั้น เราจะช่วยเหลือให้ทุกคนกลับมาสู่สภาพเดิมอย่างไร หลังโควิดผ่านพ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานอยู่

แม้รัฐบาลจะให้มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจระยะสั้น แต่หากการแพร่ระบาด ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็คงต้องมองในระยะยาว ผลกระทบเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นและจบไป แต่เป็นผลสืบเนื่อง ยาวนาน จะทำอย่างไรให้เข้าถึงครอบคลุม การฉีดวัคซีน ให้เร็วที่สุดก็เป็นอีกหนึ่งหนทาง การใช้คำว่าการฉีดวัคซีนเพื่อชาติอาจจะกว้างไป แต่การฉีดวัคซีนให้กับตัวเอง จะส่งผลดีต่อครอบครัวและสังคมและประเทศชาติในที่สุด ภูมิคุ้มกันหมู่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดีเร็วที่สุด รวมถึงเร่งแก้ไขผลกระทบระยะยาวให้เร็วที่สุด