วอล์คอินฉีดวัคซีน ต้องไม่มีการเมือง

วอล์คอินฉีดวัคซีน ต้องไม่มีการเมือง

การจัดสรรฉีดวัคซีนวันนี้แบ่งตามยุทธศาสตร์กลุ่มเสี่ยง กลุ่มจำเป็นพิเศษ กลุ่มสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน ต่างจากเดิมที่เปิดใช้รูปแบบวอล์คอิน ทำให้การให้ข่าวยังไปคนละทิศละทาง สร้างความสับสนที่เจือปนด้วยการช่วงชิงคะแนนเสียงทางการเมือง

ภายหลังมีการปรับแผนการฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ทำการปรับแผนฉีดวัคซีนอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจากนี้ไปการกระจายวัคซีนจะดำเนินการผ่าน 3 ช่องทาง คือผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม โดยให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 กับกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม ลงทะเบียนต่อจากปัจจุบันยอดมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว เมื่อถึงวันที่ 31 พ.ค.จะเปิดให้ประชาชนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 60 ลงทะเบียน ประการต่อมา จะให้ประชาชนลงทะเบียน ณ จุดบริการฉีดวัคซีน ที่กำลังกระจายออกไปให้ได้มากที่สุด

สุดท้ายการจัดสรรฉีดวัคซีน แบ่งตามยุทธศาสตร์กลุ่มเสี่ยง กลุ่มจำเป็นพิเศษ กลุ่มสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน เน้นไปที่พื้นที่สีแดง โดยเฉพาะ กทม.ที่วันนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ตั้งเป้าฉีด 5 ล้านคน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 2 เดือน ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอบรับไปดำเนินการทันที การปรับรื้อแผนครั้งนี้ เท่ากับล้มแผนเดิมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้สูตร 20 50 30 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กำกับดูแล นั่นเท่ากับล้มระบบวอล์คอินไปโดยปริยาย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลต่อชาวไทยทั้งประเทศ ระบุถึงแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่าจะไปในทิศทางไหน สำหรับเหตุผลที่นายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้ใช้รูปแบบวอล์คอิน เพราะเกรงว่าหากประชาชนแห่กันไปพร้อมกันที่จุดเดียว จะเกิดความชุลมุนขึ้นได้โดยเฉพาะ กทม.ที่มีคนจำนวนมาก หากมองในแง่ข้อเท็จจริงถือว่ามีแนวโน้มเป็นไปตามที่กังวล อาจจะเป็นผลเสียกับรัฐบาล เราเห็นว่าหากจะเกิดความโกลาหลในกรณีเปิดวอล์คอิน ปัญหาคงไม่ได้มาจากประชาชนที่แห่เข้าไปใช้บริการเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมดอาจมีปัญหามากกว่า

เห็นได้จากข่าวความไม่พร้อมในการเตรียมระบบและเจ้าหน้าที่ การให้ข่าวคนละทิศทางระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ ศบค. จึงมีแนวโน้มสูงว่าวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ทางการจะไม่สามารถรองรับความต้องการประชาชนได้ เราเห็นว่า ยังมีปัญหาความขัดแย้งในการให้ข่าวกับประชาชน ไม่เพียงสร้างความสับสนในการสื่อสาร ยังเจือปนไปด้วยการช่วงชิงคะแนนเสียงทางการเมือง เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงแผนการฉีดวัคซีนในวันนี้

เราเห็นว่าการขจัดปัญหาดังกล่าวคือวิสัยทัศน์ในการจัดการบริหาร การวางแผนโดยอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรับผิดชอบและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และพิสูจน์ด้วยตัวเลขการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ต้องลดลง เราเห็นว่า วันนี้รัฐบาลโฟกัสยุทธศาสตร์กลุ่มเสี่ยง กลุ่มจำเป็นต่อเศรษฐกิจ คือ พื้นที่ กทม.ให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ทำอย่างไรให้การฉีดวัคซีนถึงเป้าหมาย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร ภายใน 2 เดือน หากทำได้ ประชาชนจะเห็นและเชื่อมั่น ถึงวันนั้น การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของนักการเมืองในการประชาสัมพันธ์ผลงาน จะไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป