สธ.เล็งเอาผิดคนปล่อยFake News'รพ.บุษราคัม'ยันงบ13ลบ.

สธ.เล็งเอาผิดคนปล่อยFake News'รพ.บุษราคัม'ยันงบ13ลบ.

สธ.ลั่นข่าวเท็จรพ.บุษราคัมใช้งบ 239 ล้านบาท ยันใช้งบฯปรับปรุงโครงสร้าง 13 ล้านบาท มอบฝ่ายกฎหมายพิจารณาดำเนินการคนปล่อยเฟคนิวส์ ฐานทำให้สธ.เสียหาย-ประชาชนเข้าใจผิด ระบุ 4 วันทำการรับคนไข้แล้ว 267 ราย

เมื่อวันที 18 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการดำเนินการของรพ.บุษราคมที่ตั้งอยู่ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี ที่มีการนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียแสดงภาพรพ.สนามแห่งหนึ่งแล้วระบุว่าเป็นรพ.บุษราคัมที่ใช้งบประมาณ 239 ล้านบาทว่า เป็นข้อมูลเท็จ เป็นเฟคนิวส์(fake news)ที่มีการปล่อยออกมาหลังจากที่นายกรัฐมนตรีไปเปิดรพ.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการบิดเบือนทั้งในส่วนของภาพและเนื้อหา โดยรพ.บุษราคัมเจตนาจริงต้องการสร้างเป็นรพ.เพื่อรักษาคนไข้ ใช้งบประมาณจริง 13 ล้านบาทเศษในการปรับปรุงโครงสร้างเป็นรพ.บุษราคัม ไม่ใช่ 239 ล้านบาท
"รพ.บุษราคัมเป็นรพ.ใช้งบปประมาณ 13 ล้านบาทเศษในการปรับปรุงโครงสร้าง ไม่ได้เป็นไปตามเฟคนิวส์ที่ออกมา ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและทำให้กระทรวงสาธารณสุขเสียหาย ขณะนี้จึงได้มอบหมายให้กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้"นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า รพ.บุษราคัม เปิดในระยะแรกรองรับได้1,092 เตียงและขยายได้ถึง 5,000 เตียง โดยในพื้นที่รพ.นี้ผู้ป่วยแต่ละตนจะมีส่วนแยกเป็นสัดส่วน และคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา เจ้าหน้าที่สามารถดูแลเหมือนทั่วไป โดยมีออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อย-ปานกลางที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน โดยมีท่อส่งออกซิเจนจากภายนอกเข้ามาในอาคารอยู่ที่ข้างเตียงคนไข้เหมือนที่ในรพ.ปกติจะมีอยู่ที่หัวเตียงคนไข้ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดดำเนินการราว 2 เดือน ซึ่งสถานการณ์น่าจะดีขึ้น อยากเห็นผู้ป่วยน้อยลงๆ
ส่วนผู้ป่วยที่อาการหนักขึ้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนความดันสูง จะมีห้องความดันลบสามารถเข้าไปอยู่ได้ นอกจากนี้มีแผนกเอ็กซเรย์ ซึ่งมีรถเคลื่อนที่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับดูคนไข้ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เริ่มมีปอดบวมแล้วหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถให้การรักษาได้ที่รพ.บุษราคัม แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็มีระบบส่งต่อไปยังรพ.
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดสธ. ในฐานะผอ.รพ.บุษราคัม กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มาดูแลคนไข้ที่รพ.บุษราคัมมาจากทั่วประเทศในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่สถานการณ์ลดลงหรือใกล้เคียงปกติ ปัจจุบันมีมาจาก 14 จังหวัด และจากรพ.โรงเรียนแพทย์ คือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วน มีแพทย์ 20 คน พยาบาล 130 คน และเภสัชกร 10 คน รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย-ปานกลาง ตั้งแต่ที่มีอาการระดับสีเขียวและสีเหลือง
ขณะนี้เปิดทำการมาแล้ว 4 วันตั้งแต่ 14-17พ.ค. มีการรับผู้ป่วยแล้ว 275 ราย เป็นกลุ่มอาการสีเขียว 206 ราย สีเหลือง 61 ราย และสีแดงต้องส่งต่อ 8 ราย โดยเป็นการรับผู้ป่วนที่ประสานมาจากสายด่วน 1668 ,1669 และ 1330 รวมถึง รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่เคยมีอาการรุนแรงแต่อาการดีขึ้นและอยู่ในระดับสีเหลืองแล้วมาดูแลด้วยที่ผ่านมารับผู้ป่วยส่วนนี้จากรพ.จุฬาลงกรณ์และศิริราชราว 20 คนแล้ว เพื่อให้เตียงในรพ.ของโรงเรียนแพทย์สามารถรองรับผู้ป่วยที่อาการหนักเข้าไปดูแล เพื่อรักษาชีวิตคนไข้


นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รพ.บุษราคัม เนื้อมี่ กว่า 20,000 ตารางเมตรหรือ 12 ไร่ครึ่ง แบ่งเป็น 2 โซนหลัก คือ 1.ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน 270 เตียง และ2.คนไข้ทั่วไป แยกเป็นชาย หญิง และเปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่พักผ่อน มีโทรทัศน์ ที่นั่งเพื่อผ่อนคลาย มีกิจกรรมคลายความเครียดโดยกรมสุขภาพจิต ส่วนเด็กเล็กจะมีกุมารแพทย์ดูแล และเด็กโตจะมีของเล่น
สำหรับความปลอดภัยในการคืนพื้นที่หลังมีการปิดรพ.บุษราคัมนั้น นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า จะดำเนินการตามมาตรฐานทางการแพทย์ทุกอย่าง เรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมไม่เป็นปัญหา หลังใช้งานพื้นที่มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อตามมาตรฐานทางการแพทย์ และขณะเปิดดำเนินการนี้ เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลคนไข้ก็แต่งกายปกติและใส่หน้ากากอนามัยเท่านั้น