ศรีสะเกษ 'แพทย์-พยาบาล' กักตัว 67 ราย หลังสัมผัสผู้เสียชีวิตด้วย 'โควิด-19'

ศรีสะเกษ วิกฤต โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มใน รพ.กันทรลักษ์ กระทบบุคลากรทางการแพทย์ - พยาบาล สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัว 67 ราย ปิดหอผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 64 ที่ จังหวัดศรีสะเกษ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 นับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในวันนี้ พบมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการโรคอื่น แต่มาพบว่าปอดอักเสบจึงทำการตรวจหาเชื้อโรคโควิด กลับพบว่ามีเชื้อโรคโควิด-19 จึงทำให้ต้องทำการกักตัว เจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาล ทำการปิดตึกหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลกันทรลักษ์ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจหาเชื้อทุกคน รวมกว่า 67 คน ส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังของแพทย์-พยาบาล ในการดูแลเข้าเวรให้บริการแก่ผู้ป่วยปกติ จำเป็นต้องประกาศงดรักษาผู้ป่วยปกตินอกเวลาออกไปก่อน พร้อมงดย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นเข้ามา และงดการย้ายออก

โดย นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สัมภาษณ์ ว่า วันนี้จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มมา 3 ราย โดยมียอดสะสม รวม 275 ราย รับการรักษาหายกลับบ้านไปแล้ว 171 ราย ยังคงรับการรักษาอยู่ 102 ราย แต่ข่าวร้ายก็คือ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมา 1 ราย รวมสะสมจังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิต รวมเป็น 2 ราย ที่เพิ่มมาจากโรงพยาบาลกันทรลักษ์ ซึ่งมาทราบภายหลัง หลังจากที่เข้ามารับการักษาป่วยจากโรคอื่นอยู่ในหอผู้ป่วย ตึกอายุรกรรม เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไตวาย ต้องฟอกไตผ่านทางหน้าท้อง และขณะรักษามีภาวะแทรกซ้อนเป็นปอดอักเสบ ซึ่งทางการแพทย์ หากพบปอดอักเสบต้องตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ด้วย ซึ่งก็พบว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อมาผู้ป่วยมีอาการทรุดหนัก ขณะนำส่งต่อไปโรงพยาบาลศรีสะเกษ เกิดหมดลมหายใจ เสียชีวิตระหว่างทาง โดยในกรณีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยขณะดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคไตวาย แม้จะสวมหน้ากากแต่ก็ไม่ได้สวมชุด PPE จึงได้ทำการสอบสวนโรค พบว่ามีทั้งผู้ใกล้ชิด ทั้งแพทย์ -พยาบาล ญาติผู้ป่วย และผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่นอนพักรักษาตัวยังหอผู้ป่วยเดียวกันนั้น ที่จะต้องตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 และต้องทำการกักตัว

ซึ่งผลกระทบของผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายนี้ ต้องกักตัวแพทย์ - พยาบาล ที่เสี่ยงสูง จำนวน 16 คน และพยาบาลที่เสี่ยงต่ำ รวมทั้งญาติด้วย กว่า 50 คน รวม 67 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริการของทางโรงพยายาล ที่จะให้บริการผู้ป่วยทั่วไป ต้องประกาศงดการบริการนอกเวลาราชการ ส่วนตึกหอผู้ป่วยที่มีผู้ติดเชื้อ ก็ต้องปิดเพื่อทำความสะอาด ห้ามผู้ป่วยเข้าออก ห้ามเคลื่อนย้าย งดการรับส่งต่อผู้ป่วยวจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการกักตัวจะต้องมีการตรวจหาเชื้อทุกระยะคือ 7 วัน 13 วัน จากนี้ สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากก็คือ พี่น้องประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้าน จะต้องดำเนินการตามมาตรการดูแลตนเอง งดกิจกรรมเสี่ยงในที่ชุมชน ออกจากเคหสถานต้องสวมหน้ากากทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ เพราะในระยะหลังมานี้ เราจะพบการติดเชื้อโรคจากชุมชน จากคนในหมู่บ้าน ที่ไปสัมผัสเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาจากแหล่งอื่น ก่อนนำมาแพร่ระบาดในหมู่บ้าน ในครอบครัวตนเองก่อน ดังนั้นหากตนเองเฝ้าระวังตนเองอย่างดีที่สุด ทุกคนก็จะปลอดภัย หมู่บ้านก็จะปลอดภัย อำเภอ จังหวัดก็ปลอดภัยหยุดเชื้อได้แน่นอน