ป.ป.ช.แจ้งข้อหาทุจริตจัดซื้อถุงมือยางแสนล้าน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงทุจริตถุงมือยาง 1.2 แสนล้านเสร็จแล้ว พบสมรู้ร่วมคิดกระทำผิดจริง แจ้งข้อกล่าวหา “แก๊งถุงมือยาง” ทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่อคส. ผู้บริหารระดับสูง และภาคเอกชนแล้ว นัดมารับทราบข้อกล่าวหาสัปดาห์หน้า

ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงทุจริตถุงมือยาง 1.2 แสนล้านเสร็จแล้ว พบสมรู้ร่วมคิดกระทำผิดจริง แจ้งข้อกล่าวหา “แก๊งถุงมือยาง” ทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่อคส. ผู้บริหารระดับสูง และภาคเอกชนแล้ว นัดมารับทราบข้อกล่าวหาสัปดาห์หน้า แต่ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาโต้แย้งได้ใน 30 วัน ถ้าข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น ชี้มูลความผิดคดีอาญา พร้อมส่งอัยการส่งฟ้องศาล จากนั้นปปปง.อายัดทรัพย์ และดำเนินคดีแพ่ง
 
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า  ขณะนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) จัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และพบว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำผิดจริง และจัดซื้อโดยมิชอบ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของ อคส. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงอคส. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์หน้า 

สำหรับเจ้าหน้าที่ของอคส. ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา มีทั้งพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส., นักบริหารระดับ 8 อีก 2 ราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ที่เจ้าหน้าที่อคส.ทั้ง 3 รายดังกล่าวให้ข้อมูลว่าเป็นผู้สั่งให้ดำเนินการจัดซื้อถุงมือยางในครั้งนี้ ส่วนภาคเอกชน เช่น ผู้บริหารบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด คู่สัญญาของอคส. ที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางให้อคส. เป็นต้น 

อย่าไรก็ตาม ภายหลังจากป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด สามารถส่งข้อมูลโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ภายใน 30 วัน หากส่งข้อโต้แย้งมาให้แล้ว และคณะอนุกรรมการฯพิจารณาเห็นว่า ข้อโต้แย้งมีน้ำหนัก หรือสามารถหักล้างผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ได้ ก็จะไม่ชี้มูลความผิด แต่หากพบว่า ข้อโต้แย้งไม่มีน้ำหนัก หรือไม่สามารถหักล้างผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯได้ ก็จะชี้มูลความผิดผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา จากนั้นจะส่งสำนวนคดีให้อัยการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลต่อไป  
              
สำหรับความผิดของผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ในส่วนเจ้าหน้าที่อคส.  จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

นอกจากนี้ ยังผิดตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 151 เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ โทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท รวมถึงมาตรา 157 เจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งให้อัยการฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.) จะอายัดเงินในบัญชีของลริษัท การ์เดียน โกลฟส์ ที่อคส.โอนเป็นค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ ไม่ทราบยังเหลือเงินในบัญชีเท่าไร เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทได้ทยอยโอนออกแล้ว แต่ป.ป.ช.ได้ยึดไว้ได้บางส่วน โดยหลังจากที่ปปง.อายัดเงินแล้ว เจ้าของทรัพย์จะต้องพิสูจน์ทรัพย์ว่าได้มาโดยสุจริตหรือไม่ ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็จะถูกดำเนินคดีแพ่ง และถูกยึดทรัพย์ โดยอคส.สามารถขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหาย ส่วนเจ้าหน้าที่อคส.ทั้งหมด จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งเช่นกัน เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายให้กับอคส. 

ขณะที่การพิจารณาโทษทางวินัยพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ และนักบริหารระดับ 8 อีก 2 รายนั้น ขณะนี้ คณะกรรมการพิจารณาโทษวินัยร้ายแรง ที่มีนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดจะเสร็จในเร็วๆ นี้ และน่าจะถูกลงโทษทางวินัยร้านแรง คือ ไล่ออก ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญใดๆ นอกจากนี้ อคส.จะพิจารณาให้พ.ต.อ. และเจ้าหน้าที่อคส.ทั้ง 2 ราย พักงาน เพราะไม่ต้องการให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้