ส.อ.ท.ช่วยสภาพคล่องรายย่อยเร่งจ่ายค่าสินค้าภายใน 30 วัน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ส.อ.ท. ช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอี ลดระะยะเวลาจ่ายเครดิตการค้าภายใน 1 เดือน ผ่านโครงการ “FTI Faster Payment Phase 2” คาดเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนกว่า 20,000 ราย ได้ประโยขน์ อย่างน้อย 4,300 ล้านบาทต่อเดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน หลายธุรกิจประสบปัญหายอดขายลดลงและขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถร่วมแรงร่วมใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยกันให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ได้ คือ การช่วยกันชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าเร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินโครงการ FTI Faster Payment (ส.อ.ท. ช่วยเศรษฐกิจไทย) ชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าที่เป็น SMEs ภายใน 30 วัน ซึ่งมีซัพพลายเออร์ที่เป็น SME ไม่ต่ำกว่า 20,000 กิจการที่ได้รับประโยชน์ มีมูลค่าการซื้อขายของ SME ในซัพพลายเชนอย่างน้อย 4,300 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงฟื้นโครงการ “FTI Faster Payment Phase 2” กลับมาอีกครั้ง โดยได้จับมือกับ 163 บริษัทที่เคยเข้าร่วมโครงการในครั้งที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในเครือ SCG, บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทซีพี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้มี SME ในซัพพลายเชนหลายหมื่นราย และจะขอความร่วมมือขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด MAI และ SET100 โดยคาดหวังว่าโครงการ FTI Faster Payment Phase 2 จะช่วยเพิ่มเสริมสภาพคล่องให้เกิดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

โดย FTI Faster Payment จะสามารถต่อยอดไปยังแพล็ตฟอร์ม Digital Factoring ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยไปในเบื้องต้นแล้ว โดยได้เสนอประเด็นต่างๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อน Digital Factoring ให้สามารถเกิดขึ้นได้เร็วและเป็นไปได้ รวมถึง ส.อ.ท. สามารถสนับสนุนการพัฒนาระบบในการตรวจสอบยืนยัน Invoice ในโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ ไม่ได้ละทิ้ง และยังคงหาแนวทางในการช่วยเหลือเร่งด่วนในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป อาทิ การร่วมกับ บสย.จัดอบรมและ Workshop เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงสินเชื่อภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจฯ (ซอฟท์โลน) และติดตามรับฟังปัญหาของ SME ที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการดังกล่าว