จับตา 'โกทู กรุ๊ป' ชิงส่วนแบ่ง 'แกร็บ-ซี'

จับตา 'โกทู กรุ๊ป' ชิงส่วนแบ่ง 'แกร็บ-ซี'

จับตา "โกทู กรุ๊ป" ชิงส่วนแบ่ง "แกร็บ-ซี" โดยในปี 2563 ยอดการทำธุรกรรมของทั้งโกเจ็กและโทโกพีเดียสูงถึง 1,800 ล้านครั้ง รวมมูลค่ากว่า 22,000 ล้านดอลลาร์

โกเจ็ก (Gojek) ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถและชำระเงินของอินโดนีเซีย และโทโกพีเดีย (Tokopedia) บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติเดียวกัน เสร็จสิ้นการควบรวมกิจการร่วมกันวานนี้ (17พ.ค.) โดยตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “โกทู กรุ๊ป

โกเจ็ก ระบุว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ถือเป็นข้อตกลงทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียแต่ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของข้อตกลงว่าเท่าใด ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า มูลค่าการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์

"อันเดรีย โซลิสต์โย" ประธานของโกเจ็ก จะขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอ ขณะที่ "แพทริค เกา" ประธานของโทโกพีเดีย จะดำรงตำแหน่งประธานบริษัทแห่งใหม่ นอกจากนี้ โซลิสต์โยจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริการทางการเงินและการชำระเงินของ GoTo Financial ด้วย

การควบรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยให้โกเจ็กและโทโกพีเดียสามารถแข่งกันกับคู่แข่งสัญชาติสิงคโปร์อย่างแกร็บ และซี (Sea) บริษัทอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่างช็อปปี้ได้

โกทู กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจแบบบูรณาการคือรวมบริการอีคอมเมิร์ซ บริการออนดีมานด์ และบริการด้านการเงินจากโกเจ็กและโทโกพีเดียเข้าด้วยกัน โดยในปี 2563 ยอดการทำธุรกรรมของทั้ง 2 บริษัทสูงถึง 1,800 ล้านครั้ง รวมมูลค่ากว่า 22,000 ล้านดอลลาร์

เกา ประธานโกทู กรุ๊ป กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของบริษัทมีความหลากหลาย มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการเป็นบริษัทที่มียอดการทำธุรกรรมในปริมาณมากและความถี่สูงของโกเจ็ก เมื่อรวมกับยอดการทำธุรกรรมบนอีคอมเมิร์ซของโทโกพีเดีย ที่มีปริมาณมากและมีความถี่ปานกลาง จะทำให้มูลค่าของโกทู กรุ๊ป คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของอินโดนีเซีย

ทั้งสองบริษัทเริ่มหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการกันเมื่อต้นปีนี้ ก่อนจะเร่งการเจรจาให้เร็วขึ้นในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อทั้งสองฝ่ายพยายามขอการอนุมัติจากบรรดานักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นรายสำคัญโดยทั้งคู่ต่างมีกูเกิล ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐและเทมาเส็ก บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่

ขณะที่นักลงทุนอื่นๆในโกเจ็ก รวมถึงเฟซบุ๊ค ซึ่งลงทุนในบริษัทในเครือที่ให้บริการด้านการชำระเงิน บริษัทเคเคอาร์ บริษัทลงทุนในหุ้นโลก และแอสตร้า อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มบริษัทอินโดนีเซีย ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของโทโกพีเดียคือซอฟต์แบงก์ ตามมาด้วยอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน

เมื่อกลางเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว แกร็บและโกเจ็ก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอพฯเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างและส่งอาหารในอินโดนีเซีย เจรจาเพื่อควบรวมกิจการซึ่งทั้งคู่ถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบริการเป็นคู่แข่งกันอยู่ในหลายประเทศของอาเซียน อีกทั้งอินโดนีเซีย ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของทั้งสองบริษัท

ขณะที่ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของแกร็บในอินโดนีเซีย สนับสนุนแผนควบรวมกิจการเพื่อปูทางไปสู่การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ท้ายที่สุดแผนควบรวมกิจการกับแกร็บของโกเจ็กก็เป็นแค่แผน

ขณะที่แกร็บยังคงเดินหน้าต่อ ล่าสุด ช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แกร็บบรรลุข้อตกลงรวมตัวกับบริษัทอัลทิมีเทอร์ โกรวธ์ คอร์ป (Altimeter Growth Corp) ซึ่งเป็นบริษัทในลักษณะที่เรียกว่า special-purpose acquisition company (SPAC) และเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐในเร็ว ๆ นี้

ภายใต้ข้อตกลงรวมกิจการครั้งนี้มีการประเมินมูลค่าตามราคาตลาดของแกร็บว่าอยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นบริษัทที่เข้าตลาดด้วย SPAC ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ทำลายสถิติเดิมของบริษัทลูซิด มอเตอร์ (Lucid Motors) เมื่อเดือนก.พ.

SPAC เป็นบริษัทที่ไม่มีสินทรัพย์หรือธุรกิจของตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจง บริษัทประเภท SPAC มีหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รอไว้ก่อนที่จะออกไปหาซื้อ หรือควบรวมกิจการกับบริษัทเอกชน และทำให้บริษัทเอกชนนั้น ๆ กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย เปรียบเหมือนทางลัดในการเข้าตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผนวกกิจการระหว่างโกเจ็กและโทโกพีเดียนั้น จะถูกตรวจสอบจากคณะผู้คุมกฏน้อยกว่าการควบรวมกิจการระหว่างโกเจ็กและแกร็บเนื่องจากมีการเหลื่อมล้ำหรือซ้ำซ้อนของตัวธุรกิจน้อยกว่า

การผนวกกิจการของโกเจ็กและโทโกพีเดียมีขึ้นในช่วงที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคดุเดือด โดยเฉพาะเมื่อ ซี บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดของภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากมูลค่าทางการตลาด ประกาศขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดอีคอมเมิร์ซและธุรกิจส่งอาหารพร้อมโปรโมชันพิเศษเพื่อขายสินค้าตัดราคาบริษัททั้งสองแห่ง

เพราะการแข่งขันที่รุนแรงแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่แกร็บหวังว่าการทำข้อตกลง SPAC จะช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดในวงกว้างและระดมทุนเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ชิงความได้เปรียบกันทุกชั่วขณะ แต่ก็ไม่ได้มีแค่แกร็บเท่านั้น บริษัทอื่นที่สนใจนำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนก็มีอย่างเช่น “ทราเวโลกา” สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านการเดินทางของอินโดนีเซีย