สศช.หั่น GDP เหลือ 1.5-2.5% 'วัคซีน' ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทย

สศช.หั่น GDP เหลือ 1.5-2.5% 'วัคซีน' ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทย

สศช.หั่นจีดีพีเหลือ 1.5-2.5% บนสมมุติฐานว่าจะคุมการระบาดได้ภายใน มิ.ย.นี้ แนะ 7 ข้อรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจ เร่งกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภััณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 หดตัว 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาจีดีพีขยายตัว 0.2% 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.5% ซึ่งเป็นการปรับลดลงในการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ลดลง 10.8%  การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลง 8% ตามการลดลงของการซื้อยานพาหนะ4.2 % 

ขณะที่รับจากนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ลดลงถึง 51% จากปีก่อน และเป็นการลดลงเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงของรายรับนักท่องเที่ยวที่  45.1% ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 16.15% ลดลงจาก32.49% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 52.40% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ ขยายตัว 2.1 % ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนรวม ขยายตัว 7.3% ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลง 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ขยายตัวได้ 3% ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง19.6% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัว 28.4% ส่วนหนึ่งมาจากฐานต่ำในปี 2563 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 9.3%

สำหรับการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสโดยขยายตัวได้ 5.3% สอดคล้องกับ การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก

นายดนุชา กล่าวว่า การระบาดโควิดระลอกใหม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจหลายด้าน สศช.จึงลดคาดการณ์เหลือ 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5% โดยจะฟื้นตัวขึ้นช้าหลังจากเศรษฐกิจไทยในปีก่อนหดตัวถึง 6.1% ซึ่งการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในช่วง 1.5-2.5% มาจากสมมุติฐานว่าการควบคุมการระบาดในระลอกนี้จะควบคุมได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ 

ทั้งนี้การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงเนื่องจากการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจในหลายส่วนของตัวชี้วัดเศรษฐกิจ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวเพียง 1.6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2%

ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% ปรับลดจาก 10.7% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จาก 75%  ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น70% เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปีงบประมาณ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 

นอกจากนี้แม้จะปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกเป็นขยายตัว 10.3% แต่เมื่อรวมภาคท่องเที่ยวลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยเหลือเพียง 5 แสนคน จากเดิม 3 ล้านคน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 1.7 แสนล้านบาท โดยรวมแล้วคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าและบริการรวมขยายตัว 1.8% เท่านั้นแต่ถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นจากในปี 2563 ที่เคยหดตัวมากถึง 19.4%