ทุกข์น้อยกว่า ถ้ามีผู้นำที่เชื่อมั่น

ทุกข์น้อยกว่า ถ้ามีผู้นำที่เชื่อมั่น

ผู้นำที่ผู้คนเชื่อมั่นต้องแสดงความรับผิดชอบในผลการนำของตน การนำองค์กรมีเส้นทางที่ยาวไกล จึงย่อมมีผิดมีพลาดกันบ้าง แต่อยู่ที่ว่าผู้นำจะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้นได้หรือไม่? ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จากงานวิจัยที่ยาวนานกว่า 20 ปีของอาจารย์ Paul Zak จากฮาร์วาร์ด บอกว่า องค์กรที่อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติได้เกือบทั้งหมด ผู้คนในองค์กรนั้นมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ แม้กระทั่งท่ามกลางวิกฤติ คนในองค์กรที่มีผู้นำที่เขามั่นใจ มีความเครียดน้อยกว่าเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับคนในองค์กรที่ไม่เชื่อมั่นในผู้นำ รู้สึกท้อถอยน้อยกว่าเกือบเท่าตัว

ซึ่งไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นจากอารมณ์และความรู้สึกเท่านั้น แต่ความเชื่อมั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าชีวภาพบางตัวในสมองของคนคนนั้น ซึ่งแปลว่าต้องเป็นความเชื่อมั่นจากใจจริง ไม่ใช่แกล้งทำ ไม่ใช่การประจบนายใหญ่ “ความเชื่อมั่นในผู้นำ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรในยามที่เผชิญหน้ากับวิกฤติ

คนต้องการความหวังกับอนาคตที่ดีกว่า ผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนได้จึงต้องชี้นำได้ว่าอนาคตที่ดีกว่านั้นจะเป็นอย่างไร ผู้นำบอกกล่าวผู้คนได้ว่าวันหน้าองค์กรของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่บอกว่าวันหน้าตัวฉันและพรรคพวกจะเป็นอย่างไร แต่บอกโดยรวมได้ว่าเราทั้งหลายจะไปถึงเส้นชัยร่วมกัน บอกอย่างชัดเจนว่าเมื่อเราไปถึงเส้นชัยด้วยกันแล้ว เราจะมีอนาคตที่ดีกว่าอย่างไรบ้าง

แต่ไม่ใช่การบอกกล่าวความฝัน วาดวิมานในอากาศจากวาทะของผู้นำ เป็นการชี้นำอนาคตที่คนทั่วไปเข้าใจและเห็นดีเห็นงามด้วย การชี้นำอนาคตที่ดีกว่าและเป็นอนาคตที่เป็นไปได้ เป็นสิ่งแรกที่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในผู้นำ

ผู้นำต้องสามารถแสดงให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยที่มีเหตุผลว่าการนำองค์กรเป็นไปโดยโปร่งใส ปราศจากลับลมคมใน เส้นชัยที่จะเดินทางไปด้วยกันนั้นสามารถอธิบายได้ว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกคน จะแตกต่างกันบ้างตรงที่มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เกิดความกังขาว่าเส้นชัยที่ชวนให้ร่วมกันเดินทางไปนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากมายกับใครสักคน กลุ่มใดสักกลุ่ม แต่สร้างความยากลำบากให้กับคนอื่นๆ

ความโปร่งใสเกิดจากการกระทำ มิใช่เกิดจากวาทะคารม ความโปร่งใสต้องอยู่บนตรรกะที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจและยอมรับได้ ไม่ใช่ตรรกะที่ลึกลับซับซ้อนจนกระทั่งคนทั่วไปบอกไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด มีเฉพาะผู้นำที่บอกได้ว่าการกระทำเช่นนี้ถูกตรรกะ อย่างนั้นไม่ถูก

ผู้นำแห่งความเชื่อมั่นรับฟังความต้องการ ความคาดหวังของผู้คน และแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเคารพในความคิดเห็นของผู้คน มีการสื่อสารสองทางกับผู้คนอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ ซึ่งต้องปรากฏให้เห็นจากการกระทำไม่ใช่จากถ้อยคำแถลงการณ์หรือประกาศใดๆ ถ้าบอกว่ารับฟังความคิดความเห็นของผู้คน ต้องมีเวที มีการกระทำที่เป็นการรับฟังอย่างจริงจังปรากฏให้เห็น ถ้าอยากให้ใครสักคนเชื่อมั่นในตัวเรา เราจะต้องเชื่อมั่นในคนนั้นก่อน กฎของนิวตันบอกนานแล้วว่าปฏิกิริยาเท่ากับกริยา ถ้าปากบอกว่าเชื่อมั่นแต่การกระทำตรงข้าม ขยันรวบงานของลูกน้องมาทำเป็นประจำ แล้วพร่ำบอกว่าเชื่อมั่นฉันเถอะ จงจำไว้ว่าท่านไม่เชื่อมั่นคนอื่นมากเท่าใด คนอื่นก็ไม่เชื่อมั่นท่านมากเท่านั้น

ผู้นำแห่งความเชื่อมั่นบอกได้ว่าใครในองค์กรมีบทบาทอย่างไร บอกได้ชัดเจนว่าหวังผลผลิตผลลัพธ์อะไรจากบทบาทนั้น และพร้อมที่เข้าช่วยเหลือสนับสนุนหากมีอุปสรรคใดเกิดขึ้น โดยไม่เสียเวลาไปกับการตำหนิติเตียน ช่วยลงมือปัดเป่าอุปสรรคโดยไม่รีรอ ไม่ใช่ช่วยสั่งการให้ทำนั่นทำนี่ โดยตัวเองไม่ทำอะไรสักอย่างให้เห็น แต่การบอกบทบาทมาพร้อมกับการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ด้วย คาดหวังผลนี้จากบทบาทนี้โดยไม่บังคับวิธีทำ เพราะต่างคนต่างมีความถนัด มีทักษะที่โดดเด่นต่างกัน บริบทของแต่ละบทบาทก็ต่างกัน การกระจายอำนาจในการตัดสินใจแสดงให้เห็นว่าผู้นำมีความเชื่อมั่นในผู้คน ซึ่งย่อมสะท้อนกลับเป็นความมั่นใจของผู้คนต่อผู้นำ

ผู้นำที่ผู้คนเชื่อมั่นต้องแสดงความรับผิดชอบในผลการนำของตน การนำองค์กรมีเส้นทางที่ยาวไกล จึงย่อมมีผิดมีพลาดกันบ้าง โดยเฉพาะความผิดพลาดในกลยุทธ์ไปสู่เส้นชัย ซึ่งผิดพลาดกันได้เสมอ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งรอบตัวมากมายและรวดเร็วกว่าแต่ก่อน SWOT ผิดกันได้ทุกวันในยามนี้

ผู้นำจึงต้องแสดงออกให้เห็นเด่นชัดว่าตนเองรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้น ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่โยนความผิดพลาดทั้งปวงกลับสู่ผู้คน พวกแกผิด ฉันนำถูกแล้ว ถ้าผิดเป็นของผู้คน ถูกเป็นของนายใหญ่ จะเหลือใครบ้างนอกจากลิ่วล้อที่ยังมีความเชื่อมั่นในผู้นำ