'ชาร์ป'สัมพันธ์เหนียวแน่น'แอ๊ปเปิ้ล'หนุนธุรกิจแอลซีดีโต

'ชาร์ป'สัมพันธ์เหนียวแน่น'แอ๊ปเปิ้ล'หนุนธุรกิจแอลซีดีโต

'ชาร์ป'สัมพันธ์เหนียวแน่น'แอ๊ปเปิ้ล'หนุนธุรกิจแอลซีดีโต ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทชาร์ปเพิ่มขึ้น 290% เป็น 53,200 ล้านเยน(487 ล้านดอลลาร์)

ชาร์ป ผู้ผลิตสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกับแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐ ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญในธุรกิจจอแอลซีดี โดยกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทชาร์ปเพิ่มขึ้น 290% เป็น 53,200 ล้านเยน(487 ล้านดอลลาร์)ในช่วง 12 เดือนจนถึงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีงบการเงินนี้ คือเพิ่มขึ้น 43% เป็น 76,000 ล้านเยน

“เราจะได้อานิสงส์จากความต้องการหน้าจอแอลซีดีที่ฟื้นตัวขึ้น”คัตสึอากิ โนมูระ ประธานบริษัทชาร์ป กล่าว

แนวโน้มระยะใกล้สำหรับหน้าจอแอลซีดีสดใสด โดยดีเอสซีซี บริษัทวิจัยสหรัฐคาดการณ์ว่าตลาดหน้าจอแอลซีดีจะขยายตัว 33% เป็น 112,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 จากผลพวงความต้องการหน้าจอทีวีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหน้าจอทีวีขนาดใหญ่ ขณะที่ตัวขับเคลื่อนวงจรรวมที่มีอย่างจำกัดและชิ้นส่วนแอลซีดีอื่นๆกำลังกดดันให้หน้าจอแอลซีดีมีราคาแพงขึ้น

ในกลุ่มผู้ผลิตหน้าจอทีวีขนาดใหญ่รายหลักๆคือบริษัทสัญชาติจีนอย่าง บีโออี เทคโนโลยี กรุ๊ป และไชนา สตาร์ ออปโตลิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี และเอยู ออปโทรนิกส์ ของไต้หวัน ส่วนชาร์ปเน้นผลิตหน้าจอทีวีขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ปัจจุบัน ชาร์ปมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในตลาดหน้าจอแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊ค อานิสงส์จากการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

“ราคาหน้าจอแอลซีดีสำหรับอุปกรณ์ไอทีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ต่อไปในอีกสองสามเดือนข้างหน้า”โยชิโอะ ทามูระ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชียของดีเอสซีซี กล่าว

ข้อมูลของดีเอสซีซี ระบุว่า ชาร์ปมีส่วนแบ่งตลาด 10.4% ของตลาดหน้าจอแอลซีดีขนาดเล็กและขนาดกลางเมื่อปีที่แล้ว น้อยกว่าหน้าจอแอลซีดีของบีโออีและเทียนหม่า ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของจีน แต่การมีบริษัทแอ๊ปเปิ้ลเป็นลูกค้ารายใหญ่ถือเป็นข้อได้เปรียบ

เมื่อปีที่แล้ว ชาร์ปเพิ่มกำลังการผลิตหน้าจอแอลซีดีหลังจากเข้าซื้อโรงงานผลิตหน้าจอสัญชาติเดียวกันที่ชื่อเจแปน ดิสเพลย์ ฮากุซัน(เจดีไอ) ในจังหวัดอิชิกาวะ โดยชาร์ปเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ผลิตแอลซีดีแห่งนี้ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ด้วยการเข้ารับหนี้ของบริษัทแอ๊ปเปิ้ลที่เกิดจากการจ่ายเงินล่วงหน้าจำนวน 390 ล้านดอลลาร์ และปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้เริ่มกลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้งภายใต้ชื่อชาร์ปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

การตัดสินใจของชาร์ปเพื่อซื้อโรงงานผลิตดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ที่ต้องการรักษาแหล่งผลิตสินค้าคือหน้าหน้าจอต้นทุนต่ำไว้ต่อไปด้วยการถ่ายโอนสิ่งอำนวยความสะดวกจากเจดีไอซึ่งอยู่ระหว่างการพลิกฟื้นกิจการไปยังชาร์ป

“มิซูโฮะ ซิเคียวริตีส์” ระบุว่า ปีนี้ ชาร์ปมีแนวโน้มที่จะจัดหาหน้าจอแอลซีดีจำนวน 50 ล้านชุดให้แก่การผลิตไอโฟน เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ สวนทางกับแอลจี ดิสเพลย์ของเกาหลีใต้และเจดีไอที่ลดกำลังการผลิตหน้าจอแอลซีดี เนื่องจากชาร์ปมีลูกค้าหลักคือบริษัทแอ๊ปเปิ้ล

แต่อานิสงส์นี้อาจไม่ยืนยาวนักเพราะขณะนี้บริษัทแอ๊ปเปิ้ลใช้หน้าจอแอลซีดีสำหรับไอโฟนตลาดล่าง และเพิ่มการใช้หน้าจอโอแอลอีดีสำหรับไอโฟนตลาดบน ซึ่งซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้เป็นจ้าวตลาดโอแอลอีดีสำหรับสมาร์ทโฟนโลก

“เราจะได้เห็นโรงงานฮากุซันผลิตหน้าจอให้ไอโฟนในปริมาณสูงในช่วงไตรมาสเดือนเม.ย.-มิ.ย.”ซาโตชิ ซากาเอะ นักวิเคราะห์จากไดวา ซิเคียวริตีส์ ให้ความเห็น

การมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกับแอ๊ปเปิ้ลได้ผลกับชาร์ปในระยะสั้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าในระยะยาวสายสัมพันธ์นี้จะยังใช้ได้ผลกับชาร์ปหรือไม่ และเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ชาร์ปตัดสินใจทำให้การระดมทุนจากบริษัทอื่นๆเป็นเรื่องง่ายขึ่้น ด้วยการแตกกิจการธุรกิจหน้าจอแอลซีดีออกไป