ผู้บริหารแผนฟื้นฟูยันรัฐไม่ต้องอุ้มการบินไทย

ผู้บริหารแผนฟื้นฟูยันรัฐไม่ต้องอุ้มการบินไทย

คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ยืนยัน ไม่ได้กำหนดในแผนให้ภาครัฐต้องเข้ามาอุ้มการบินไทยและต้องค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ระบุ ในแผนฟื้นฟูจะทำให้บริษัทมีศักยภาพในการกู้เงิน

แหล่งข่าวจากที่ประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยไม่ได้มีการกำหนดในแผนว่า จะให้ภาครัฐต้องเข้ามาอุ้มการบินไทย และไม่ได้กำหนดให้ภาครัฐจะต้องเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย

ทั้งนี้ จากการประชุมออนไลน์ระหว่างเจ้าหนี้ของการบินไทย กับคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพิจารณาโหวตรับหรือไม่รับ แผนฟื้นฟูดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ที่มีสัดส่วนเกินกว่า 10 %ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่มีสิทธิ์โหวต เห็นชอบให้เลื่อนการลงมติในการรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูไปเป็นวันที่ 19 พ.ค. เนื่องจาก มีเจ้าหนี้มากกว่า 15 ราย เสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในรายละเอียด ที่เกี่ยวพันกับตนเอง แต่โครงสร้างที่เป็นสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูไม่มีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร (ดีดีการบินไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ได้กล่าวในที่ประชุมเจ้าหนี้ว่า ตามแผนฟื้นฟูที่คณะผู้จัดทำแผนได้เสนอให้เจ้าหนี้พิจารณาอนุมัตินั้น หน่วยงานของรัฐมาในฐานะเจ้าหนี้รายหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ผูกพันว่ารัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือการบินไทย และไม่ได้กำหนดให้ภาครัฐจะต้องเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย

ขณะที่ เจ้าหนี้บางรายถามคณะผู้จัดทำแผนว่า หากกระทรวงการคลังไม่เข้ามาช่วยในเรื่องแหล่งเงินกู้ วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟู จะทำให้แผนมีความเป็นไปได้แค่ไหน ซึ่งดีดีการบินไทย กล่าวตอบว่า เมื่อแผนฟื้นฟูมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ย่อมทำให้การบินไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การหาแหล่งเงินกู้จึงไม่ใช่ปัญหา

นอกจากนั้น กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทย ได้เสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ว่า ขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้แปลงหนี้ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เป็นทุน พร้อมทั้งเสนอให้มีการแยกธุรกิจของการบินไทย เป็นแต่ละธุรกิจภายใน 1 ปีนับจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ส่วนข้อเสนอของสหกรณ์ให้ลดทุนของการบินไทยลงเหลือ 1สตางค์ เพื่อช่วยล้างผลขาดทุนสะสมนั้น ผู้เสนอได้หยุดข้อเสนอของตนเองลงไป

ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูที่คณะผู้จัดทำแผนได้เสนอเข้ามานั้น ไม่มีข้อเสนอให้แฮร์คัตหนี้ เนื่องจาก เจ้าหนี้หลายรายไม่ยอมรับ รวมถึง กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ด้วยก็ไม่เห็นด้วยกับการแฮร์คัต ซึ่งตามแผนฟื้นฟู จะดำเนินการยืดภาระหนี้ออกไป เช่น หนี้ที่เป็นหุ้นกู้ จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ออกไปในระยะ 10 ปี เพื่อกระจายภาระทางเงินออกไปในระยะยาวขึ้น

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ปีที่แล้ว เห็นชอบตามคำขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และเห็นชอบให้บริษัท อีวาย คอร์ปอร์เรท แอดไวซอรี่ เซอวิสเซส จำกัด และคณะผู้จัดทำแผนอีก 6 คน เป็นผู้จัดทำแผน

เหตุผลที่ศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบให้การบินไทยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เนื่องมาจาก การบินไทยมีภาระหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ(ขาดทุนสะสมมากจนทำให้ทุนติดลบ)

อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้(การบินไทย)เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้ง ชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ทำให้ปัจจุบันลูกหนี้ยังเป็นผู้มีศักยภาพในการสร้างรายได้

โดยสาเหตุที่ประสบปัญหาทางการเงินไม่ได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจของลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันและผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ลูกหนี้ต้องลดบริการลงอย่างฉับพลัน หากลูกหนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการ ย่อมเกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกจ้าง ผู้ลงทุนในกิจการของลูกหนี้ ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ทั้งนี้ ณ 31 ธ.ค.2563 บริษัทการบินไทย มีสินทรัพย์รวม 2.08 แสนล้านบาท หนี้สินรวม 3.37 แสนล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบ 1.28 แสนล้านบาท รายได้รวม 4.86 หมื่นล้านบาท และมีผลขาดทุน 1.41 แสนล้านบาท