นักวิชาการแนะรัฐวางแผน เยียวยาโควิดระยะยาว

นักวิชาการแนะรัฐวางแผน    เยียวยาโควิดระยะยาว

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ขณะนี้ มีการประเมินจากแบบจำลองการแพร่ระบาดคาดว่าการระบาดว่าจะยังมีผู้ติดเชื้อในระดับปานกลาง-สูงไปอีก3 เดือนต่อจากนี้

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ขณะนี้ มีการประเมินจากแบบจำลองการแพร่ระบาดคาดว่าการระบาดว่าจะยังมีผู้ติดเชื้อในระดับปานกลาง-สูงไปอีก3 เดือนต่อจากนี้เท่ากับว่าการระบาดกินระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งการกำหนดมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านระยะเวลาประกอบกับรูปแบบ และมูลค่าการเยียวยาด้วย 

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ​กล่าวว่ามาตรการของภาครัฐที่ออกมาให้เงินช่วยเหลือประชาชนคนละ 2,000 บาทในระยะเวลา 2 สัปดาห์ในโครงการเราชนะ และม.33 เรารักกันถือว่าการเยียวยายังไม่พอเนื่องจากโดยหลักการแล้วการเยียวยาจะต้องครอบคลุมระยะเวลาการแพร่ระบาดและพอเพียงที่จะให้คนที่ได้รับการเยียวยาสามารถที่จะดำรงชีวิตได้ในระดับหนึ่ง

"โดยระยะเวลาในการเยียวยาผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มอาชีพอิสระจึงต้องครอบคลุมที่ประมาณ 4 เดือน สำหรับวงเงินที่ให้ยังจำเป็นที่จะให้ในจำนวนเงินประมาณ 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือนซึ่งเงินในจำนวนนี้จะช่วยชดเชยรายได้ของประชาชนที่ไม่ได้ออกไปทำงาน" 

นอกจากนี้รัฐบาลควรเพิ่มเงินเยียวยาให้กับกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มเด็กในครัวเรือนยากจน กลุ่มแรงงานที่ว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 มากกว่า 3 เดือน ผู้สูงอายุ และคนพิการซึ่งกลุ่มนี้อาจเพิ่มเงินให้อีก 500 - 1,000 บาทต่อคน 

มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 มีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานกว่าจะมีการควบคุม หากมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องการที่จะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อให้เยียวยาก็สามารถที่จะทำได้เพราะหลายประเทศก็ใช้การกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาประชาชน แต่การแจกเงินในระยะต่อไปต้องวางแผนในสองเรื่องคือหนึ่งการเพิ่มทักษะความรู้ให้กับประชาชนที่รับเงินเยียวยาเพื่อให้แรงงานในประเทศมีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด-19 มากขึ้น 

ข้อต่อมาคือในการกำหนดประเภทของสินค้าที่ผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาไปซื้อให้มีความรอบครอบมากขึ้นโดยเน้นไปที่สินค้าที่เป็น Local Content หรือการใช้วัตถุดิบและการผลิตในประเทศเพื่อให้เงินกู้ที่รัฐบาลกู้มานำไปใช้ให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด 

“เงินที่กู้มาในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่ามีต้นทุนที่ต้องใช้คืิน ดังนั้นในหลักการใช้เงินกู้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากที่สุด”

ในแง่หนึ่งคือต้องสร้างกลไกให้ผู้ที่รับเงินมีแรงจูงใจในการเพิ่มทักษะ ความรู้ของตนเอง และอีกแง่หนึ่งต้องคำนึงถึงโครงการที่สร้างการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุดซึ่งการกำหนดสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักนั้นจะช่วยเรื่องนี้ได้

สำหรับมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาโครงการที่ได้ผลมากคือโครงการคนละครึ่งซึ่งเป็นโครงการร่วมจ่าย Co-pay ที่ได้ผลดีทำให้เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้มาก ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่จะแจกเงินคืนให้กับผู้ใช้จ่ายคาดว่าจะมีคนที่เข้าร่วมไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดของมาตรการที่ไม่จูงใจ 

ในส่วนของมาตรการที่จะจูงใจผู้มีรายได้สูงให้ออกมาใช้จ่ายมองว่ายังเป็นมาตรการทางภาษีเช่นโครงการช็อปดีมีคืนที่รัฐบาลลดภาษีให้กับผู้ใช้จ่ายสินค้าซึ่งคนในกลุ่มนี้ยังต้องการมาตรการในลักษณะนี้อยู่ 

“หากมีการฉีดวัคซีนที่มากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภาครัฐก็จะลดภาระในเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงได้ ดังนั้นในเรื่องการลงทุนเรื่องการฉีดวัคซีนจึงมีผลดีทั้งเรื่องสาธารณสุขและผลดีต่อการช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้นด้วย”