“ตั้งรับหรือรุก”คลื่นทุนจีน       สู่อีอีซีหลังโควิด-19

เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 18.3% ในไตรมาสแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ไม่ได้สะท้อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่แท้จริง เนื่องจากเทียบกับฐานปีก่อนที่หดตัวอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19

เศรษฐกิจจีนเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 18.3% ในไตรมาสแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ไม่ได้สะท้อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่แท้จริง เนื่องจากเทียบกับฐานปีก่อนที่หดตัวอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 อย่างไรก็ดี จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เคร่งครัดและมาตรการช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ทำให้จีน ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ก่อนประเทศใดในโลก จึงน่าจับตาคลื่นลงทุนจีนหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย

แม้ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุดในปี 2563 ด้วยเงินลงทุน 50,455 ล้านบาทในปี 2563 แต่ญี่ปุ่นดำเนินกลยุทธ์ Thailand Plus One เพื่อกระจายซัพพลายเชน จึงน่าเป็นห่วงเม็ดเงินลงทุนในไทยในอนาคต แต่ที่น่าจับตาคือจีน นักลงทุนอันดับ 2 ที่ขยับการลงทุนในไทยมากขึ้นอย่างชัดเจนนับจากปี 2556 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากต้นทุนแรงงานในจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นช่วงปี 2553-2558 กว่า 10% ขณะที่ในปี 2561-2562 ก่อเกิดการย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่จากจีนมายังประเทศในแถบอาเซียนรวมทั้งไทยเมื่อสงครามการค้าเริ่มรุนแรง

ในปี 2563 จีนลงทุนในไทย 164 โครงการ เงินลงทุน 21,831 ล้านบาท แม้ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บทบาทและความสำคัญของจีนยังคงมีอยู่ จีนลงทุนในไทยเพื่อใช้อีอีซีเป็นฐานการผลิตไปอาเซียน อีกทั้งจีนมีนโยบาย One Belt One Road ตลอดจนนโยบายส่งเสริมอีอีซีของไทยเชื่อมโยงกับ The Greater Bay Area (GBA) เพื่อพัฒนา 11 เมืองสำคัญ (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) ของจีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

การลงทุนจากจีนในไทยช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ได้แก่ อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

กลุ่มที่ 2 การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ดิจิทัล การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กลุ่มที่ 3 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ศูนย์กระจายสินค้า และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

กลุ่มที่ 4 การลงทุนจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ เพื่อเป็นฐานการลงทุนขยายธุรกิจและการค้าในภูมิภาคนี้ กลุ่มที่ 5 การลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการทั่วไป เพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์และพลาสติก อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ อาหารแปรรูป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม

ในเชิงบวก เงินทุนจากจีนจะเข้ามาพัฒนาประเทศ กระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในเชิงลบ ธุรกิจจีนจะมีบทบาทในการควบคุมราคาและอาจเกิดการผูกขาดช่องทางการขาย 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรเร่งรัดปรับปรุงเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ได้แก่ การปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรค การเร่งเดินหน้าโครงการอีอีซีโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมเรื่องดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนวิกฤติโควิด-19 อาจทำให้บางบริษัทเลือกที่จะชะลอการลงทุน จึงต้องเร่งทำงานเชิงรุก

ทุนจีนจะยังมีอิทธิพลและมีบทบาทในอาเซียนและไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองไปที่ศักยภาพของไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชนของโลก บุคลากรคุณภาพสูง อีกทั้งสิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุนจากบีโอไอ ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ทำให้คาดว่าหลังวิกฤติโควิด-19 ทุนจีนจะรุกคืบเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งในธุรกิจเดิม ได้แก่ ธุรกิจการค้าและบริการ ตลอดจนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี  จึงต้องตั้งรับกระแสทุนจีนรวมถึงรุกเจรจาเป้าหมายรายบริษัทที่คาดว่าจะมีคลื่นลงทุนของนักธุรกิจจีนมาไทยเพิ่มขึ้น