พลังงานเตรียมถกร่วม ปตท. เคาะนำเข้าแอลเอ็นจี

พลังงานเตรียมถกร่วม ปตท. เคาะนำเข้าแอลเอ็นจี

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมหารือ ปตท.สรุปปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจี ตามมติ กพช. มั่นใจเสร็จทัน มิ.ย.นี้ หนุนชิปเปอร์รายใหม่เริ่มนำเข้า

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมนัดหมายหารือกับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในเร็วๆนี้ เพื่อประเมินความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ และความเป็นไปได้ในส่วนของการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563 เพื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2

เป้าหมายเพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณการซื้อก๊าซธรรมชาติต่อวันตามสัญญาซื้อขาย (Daily Contract Quantity หรือ DCQ) ที่มีไว้กับปตท. และไม่ก่อให้เกิดปัญหา Take or Pay หรือ การรับก๊าซไม่ครบตามสัญญาแต่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังเดือน พ.ค.นี้ พร้อมนำเสนอต่อที่ประชุม กพช. พิจารณาทันตามกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้ หรือ ภายในไตรมาส 2 อย่างแน่นอน

ส่วนทิศทางราคาก๊าซ LNG พบว่า ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าในช่วงปลายเดือน เม.ย. 2564 ราคาจะอยู่ที่กว่า 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ปรับลดลงจากช่วงต้นปีซึ่งขณะนี้ราคา LNG ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้พลังงานของโลกในวงกว้าง

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้(ดีมานด์) ก๊าซฯในประเทศ ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2564) ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กลับมาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและใกล้เคียงกับภาวะปกติ หรือก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ก่อนหน้านี้ นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT คาดว่า ปีนี้ ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 6-6.5 ล้านตัน ขณะที่ ปตท.มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาว ปัจจุบัน อยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี คาดว่า ปีนี้จะต้องนำเข้า LNG เพิ่ม ประมาณ 0.5-0.8 ล้านตัน หรือ 1-1.3 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับ Shipper LNG รายใหม่ แต่ตัวเลขในส่วนนี้เป็นแค่การประเมินเฉพาะของปตท.เท่านั้น โดยจะต้องรอการพิจารณาข้อมูลร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เกี่ยวกับปริมาณนำเข้า LNG ที่ชัดเจนอีกครั้ง