รฟม.เปิดชิงโยธารถไฟฟ้าม่วงใต้ อัดฉีดเงินลงทุน 1 แสนล้าน

รฟม.เปิดชิงโยธารถไฟฟ้าม่วงใต้ อัดฉีดเงินลงทุน 1 แสนล้าน

รฟม.ลุยประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ก.ย.นี้ ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท มั่นใจประมูลไร้ปัญหา เริ่มตอกเสาเข็ม ก.ย.2565 เปิดให้บริการ ธ.ค.2570

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการเร่งสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการฯ และจัดทำร่างเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โดย รฟม. มีเป้าหมายเปิดประกวดราคาภายในเดือน ก.ย.นี้

อีกทั้งยังประเมินว่ากระบวนการประกวดราคาจะแล้วเสร็จ ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลต้นปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย.2565 เพื่อเปิดให้บริการเดือน ธ.ค.2570 ซึ่งเบื้องต้น รฟม.จะเปิดประมูลงานโยธาด้วยวิธีประกวดราคานานาชาติ ลักษณะเดียวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าทั่วไป อย่างสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ส่วนงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า และบำรุงรักษา เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในรูปแบบ PPP Gross cost คือจ้างเอกชนเดินรถ กำหนดระยะเวลา 30 ปี เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่

“เวลานี้ยังไม่มีปัญหาใดที่จะเป็นอุปสรรคให้การเดินหน้าโครงการต้องหยุดชะงักลง เรื่องการเวนคืนที่ดิน อยู่ระหว่างทยอยดำเนินการยังไม่พบปัญหาอุปสรรค ซึ่งตามหลักกฎหมายด้านการเวนคืนที่ดิน ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนบริเวณพื้นที่ในโครงการอยู่แล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบ และพิจารณาค่าทดแทน เบื้องต้นโครงการนี้มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.59 หมื่นล้านบาท มีการเวนคืนที่ดิน 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลัง”

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทาง 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้า โดยเป็นโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

โดยโครงสร้างงานโยธาจะเป็นทางยกระดับข้ามคลองบางซื่อ จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย หลังจากนั้นเข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ

162098347787

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม.เผยว่า โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างภายใต้การดูแลของ รฟม. ทั้ง 3 สาย ขณะนี้มีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ความก้าวหน้าโดยรวมคิดเป็น 78.11% โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ก้าวหน้า 74.35% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2565

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Transit System) มีโครงสร้างทางวิ่งแบบอุโมงค์ใต้ดินผสมกับทางวิ่งแบบยกระดับ ปัจจุบันได้ดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบรางรถไฟฟ้า มีความก้าวหน้างานโยธาคิดเป็น 81.03% มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2567

162098345547